วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

EP150.📌ระยะพื้นฐานสำหรับปลั๊กไฟ/สวิทช์ไฟในการติดตั้ง

 📌ระยะพื้นฐานสำหรับปลั๊กไฟ/สวิทช์ไฟในการติดตั้ง





เรื่องนี้ค่อนข้างยากมากที่จะหาระยะที่เป็นมาตรฐานสากล ส่วนใหญ่จะเป็นระยะที่ใกล้เคียงกันจึงมีแค่ระยะแนะนำพื้นฐานซึ่งพอจะสรุปออกมาได้ดังนี้


🔻การติดตั้งระยะห่างจากขอบประตู/หน้าต่าง

- ส่วนใหญ่มักให้ขอบหน้ากากอยู่ห่างจากขอบประตูหน้าต่าง 10 เซนติเมตร เพราะมันติดเสาเอ็นไงจ๊ะ

- หรือจะระบุให้กึ่งกลางกล่องไฟห่างจากขอบประตู / หน้าต่าง 20 เซนติเมตรก็ได้


🔻ระยะการติดตั้งปลั๊กไฟทั่วไปความสูงจากพื้น

- ปลั๊กล่าง ให้ขอบบนหรือกึ่งกลางกล่องไฟอยู่สูงจากพื้น 30-55 เซนติเมตร 

- ปลั๊กบน  ให้ขอบบนหรือกึ่งกลางกล่องไฟอยู่สูงจากพื้น 90-120 เซนติเมตร


🔻ระยะการติดตั้งปลั๊กไฟ/ทีวี/โทรศัพท์ความสูงจากพื้น

- ความสูงจากขอบบนของกล่องไฟอยู่ที่ 30 เซนติเมตร สำหรับช่องเสียบลอดใต้ตู้

- ความสูงจากขอบบนของกล่องไฟอยู่ที่ 60 เซนติเมตร สำหรับที่เสียบเหนือตู้วางทีวี


🔻ระยะการติดตั้งปลั๊กไฟบนเคาน์เตอร์ครัวใน/นอก

- ความสูงจากขอบบนของกล่องไฟอยู่ที่ 100 -120 เซนติเมตร (ระยะ Top เคาน์เตอร์อยู่ที่ 82 เซนติเมตร + ระยะบัวเหนือเคาน์เตอร์ 10 เซนติเมตร )


🔻ระยะการติดตั้งปลั๊กไฟเหนือโต๊ะทำงาน

- ความสูงจากขอบบนของกล่องไฟขั้นต่ำอยู่ที่ 85-90  เซนติเมตร (ระยะ Top โต๊ะทำงานต่ำสุดอยู่ที่ 75 เซนติเมตร)


🔻ระยะการติดตั้งปลั๊กไฟ/สวิทช์ไฟเหนือตู้ข้างเตียง

- ความสูงจากขอบบนของกล่องไฟขั้นต่ำอยู่ที่ 65-70 เซนติเมตร ( ระยะ Top ตู้ข้างเตียงต่ำสุดอยู่ที่ 55 เซนติเมตร )


🔻ระยะการติดตั้งสวิทช์ไฟความสูงจากพื้น

- ให้ขอบบนหรือกึ่งกลางกล่องไฟอยู่สูงจากพื้น 1.20 เมตร


🔻ระยะการติดตั้งตู้ไฟ

- ให้ขอบบนอยู่สูงจากพื้น 180-200 เซนติเมตร


🔻Junction Box ต่างๆ

- เครื่องทำน้ำอุ่น : ให้ขอบบนหรือกึ่งกลางกล่องไฟอยู่สูงจากพื้น 180 เซนติเมตร

- ตู้เสื้อผ้า :ให้ขอบบนหรือกึ่งกลางกล่องไฟอยู่สูงจากพื้น 30 เซนติเมตร

- เครื่องดูดควัน : ให้ขอบบนหรือกึ่งกลางกล่องไฟอยู่สูงจากพื้น 180 เซนติเมตร

- เครื่องปรับอากาศ : ให้ขอบบนหรือกึ่งกลางกล่องไฟอยู่สูงจากพื้น 240 เซนติเมตร


📌ระยะสำหรับผู้นั่งรถเข็น

- ระดับกล่องไฟล่าง : ให้ขอบล่างของกล่องไฟอยู่สูงจากพื้น 45 เซนติเมตร

- ระดับกล่องไฟบน : ให้ของบนของกล่องไฟอยู่สูงจากพื้น 120 เซนติเมตร


💟ระยะการติดตั้งปลั๊กไฟ/สวิทช์ไฟนั้น มีตัวแปรหลายสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องจึงทำให้ไม่มีระยะมาตรฐานที่ใช้เหมือนกัน โดยสาเหตุหลักๆนั้นมาจาก


1.การปรับเปลี่ยนระดับสำหรับงาน Interior

2.การเข้าสู่สั่งคมผู้สูงอายุ ระดับอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปบ้างเพื่อให้เอื้อต่อการก้มที่น้อยลงและไม่ปีนในส่วนที่สูงเกินไป

3.บ้านที่มีเด็กเล็ก ระดับต้องสูงขึ้นเพื่อป้องกันการแหย่ปลั๊กไฟ

4.สำหรับบ้านพักอาศัยที่มีผู้พิการ หรือ Universal Design


📌การกำหนดระยะในแบบ

- กำกับระยะความสูงแต่ละจุดด้วยสัญลักษณ์ H=+xx เช่น H=+0.80 โดยต้องกำหนดให้แน่ชัดว่าวัดจากขอบบน ขอบล่างหรือกึ่งกลาง Box ไฟ

- กำกับระยะความห่างจากขอบผนัง / ประตู / หน้าต่าง โดยต้องกำหนดให้แน่ชัดว่าระยะห่างนับจากขอบหรือกึ่งกลาง Box ไฟ


ภาพประกอบหลัก : การจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ

https://www.gotoknow.org/posts/463833


----------------------------------------------

💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n

-----------------------------------------------

EP149.สัญลักษณ์ในแบบสถาปัตยกรรม

 🟪🔴🔻🛑สัญลักษณ์ในแบบสถาปัตยกรรม



งงใช่มั้ย สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม วงรี หกเหลี่ยมมันคืออะไร ต้องไปดูความหมายตรงไหน วันนี้เราจะมาสอนอ่านเบื้องต้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถที่จะอ่านแบบได้


ก่อนอื่นต้องรู้จัก "รายการประกอบแบบ และ Drawing list " เสียก่อน ทั้ง 2 อย่างนี้ส่วนมากจะรวมอยู่แผ่นเดียวกันหรือแยกหน้ากัน แต่มักจะอยู่ในหน้าแรกๆรองจากหน้าปกแบบก่อสร้างและอยู่ก่อนแบบแปลนบ้านเสมอ


🔻Drawing List หรือ สารบัญแบบ


- ทำหน้าที่บอกว่า เลขแบบแผ่นนี้ คือ แบบอะไร

- เวลาอยากจะดูแบบแบบไหน ก็ไปดูที่สารบัญแบบก่อนเพื่อหาหมายเลขแบบ และไล่เปิดตามตัวเลขเรียง เช่น หาแบบบันได แผ่นที่ A80-1


🔻รายการประกอบแบบ


- ประกอบไปด้วยแบบ พื้น (F), ผนัง , ฝ้าเพดาน (C) , บัวเชิงผนัง (WB)

- ส่วนใหญ่เป็นงาน Finishing ทั้งหมด เช่น งานพื้น จะจำแนกประเภทพื้นตามสัญลักษณ์ที่ระบุในแปลน เช่น F1 พื้น คสล.ปูกระเบื้อง 60x60 

- หากจะดูว่าแต่ละห้องใช้พื้นอะไร ทาสีอะไร บัวเชิงผนังแบบไหน สามารถดูสัญลักษณ์ที่บอกชื่อห้องในแบบแปลนได้ จะพบสัญลักษณ์ F,C,WB รวมอยู่ในชื่อห้องต่างๆ

- สัญลักษณ์ที่ใช้สำหรับงานบ้านไม่ใหญ่มากส่วนใหญ่เหมือนกัน แสดงความหมายเชิงสัญลักษณ์เดียวกัน  ยกเว้น❗️ บางบริษัทออกแบบที่จะใช้สัญลักษณ์แตกต่างกันไปบ้าง แต่การระบุ การสื่อสารสามารถเข้าใจได้ และไม่ผิดแต่อย่างใด สามารถขออนุญาตก่อสร้างได้


📌เรามาดูความหมายของแต่ละสัญลักษณ์กัน ซึ่งสามารถหาความหมายได้ที่ "รายการประกอบแบบและสารบัญแบบ"


1.🔲 = พื้น  F

- บางครั้งใช้ [1] หรือ [F1] 

- มักมีระดับเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ เช่น F1 +0.80

2.วงรี = ฝ้าเพดาน C

- บอกประเภทฝ้าเพดาน มักมีระดับเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น C1 + 3.60

3.🔻= ผนัง

- สำหรับงานบ้านทั่วๆไปใช้ 🔻 เพราะวัสดุก่อกับงาน Finishing นั้นมีแค่ไม่กี่แบบ จึงใช้ควบรวมทั้ง 2 ใน 1 รายการได้

4.หกเหลี่ยมขีดกลาง

- สำหรับบ้านขนาดใหญ่ อาคารใหญ่ๆ บางที่ใช้หกเหลี่ยมมีขีดกลาง โดยแบ่งเป็น บน = วัสดุก่อ , ล่าง = Finishing

5.หกเหลี่ยม = หน้าต่าง W

- เช่น หน้าต่างห้องนั่งเล่น W1  ก็ไปเปิดหาเลขหน้าแบบขยายหน้าต่างที่สารบัญแบบ ถ้าแบบน้อยก็เปิดๆไล่หาเอา

6.🔘 = ประตู D

- เช่น ประตูห้องนั่งเล่น D1 ประตูห้องน้ำ D2 ตัวเลขต่างกันแปลว่าคนละแบบ

7.+0.00 หรือ 🔻+0.00

- สามเหลี่ยมเล็กๆติดกับตัวเลข หมายถึงการบอกระดับ หัวสามเหลี่ยมทิ่มลงตรงไหนก็คือ ระดับที่ Finishing นั้น


หมายเหตุ 

- ถ้าแบบไหนใช้ สามเหลี่ยมบอกผนัง ก็จะใช้ Pattern ปกติดังนี้  🔻=ผนัง , 🔴 = ประตู , หกเหลี่ยม = หน้าต่าง

- ถ้าแบบ Advance จะเป็นดังนี้ หกเหลี่ยมขีดกลาง = ผนัง , 🔴 = ทั้งประตูและหน้าต่าง แยกกันที่ W และ D ในวงกลมแทน


ใคร งง ดูรูปประกอบ โลด...


----------------------------------------------

💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n

-----------------------------------------------

EP148.📌สร้างบ้านกับสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านดีมั้ย?

 📌สร้างบ้านกับสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านดีมั้ย?


อันดับแรกต้องแยกให้ได้ก่อนว่า "อันไหนคือบริษัทที่เข้าร่วมกับสมาคม" เพราะผู้รับเหมาที่เปิดเป็นบริษัทก่อสร้างก็บอกตัวเองว่าเป็นบริษัทรับสร้างบ้านเหมือนกัน .... ก็ถูกอ่ะนะ เขารับสร้างบ้านอ่ะ


แอดจะมาแชร์ประสบการณ์ในส่วนที่แอดเคยทำงานมานะคะ... 


🔻บริษัทรับสร้างบ้านในสมาคมจะไม่เหมือนกับบริษัททั่วไปตรงที่


- เขาจะมีแบบบ้านแบบต่างๆให้เลือกพร้อมกับราคาขาย ลูกค้าตัดสินใจตรงนั้น ไม่มีการเสนอราคา ถอด BOQ แม้แต่ BOQ ก็ไม่ได้เห็นนะเออ

- ราคาขายจะแบ่งเป็น Level ตามมาตรฐานวัสดุ โดยเขาจะมีใบตาราง Material spec แต่ละ Class ให้เลือกเลย เช่น วัสดุ S=Standard ราคาวัสดุและวัสดุที่ให้ก็จะเกรดธรรมดา  วัสดุ P=Premium ก็จะได้วัสดุที่ดีที่สุดในบรรดาทุก Class

- ลูกค้าสามารถเปลี่ยนวัสดุได้ เกินก็เพิ่มเงิน ถูกกว่าเขาไม่ลดอ่ะนะ

- ลูกค้าสามารถเลือกแบบบ้านแล้วทำการเปลี่ยน Function หรือหน้าตาได้ เพราะแต่ละสาขาจะมีสถาปนิกเพื่อคอยช่วยเหลือ

- ราคาค่าก่อสร้างส่วนใหญ่จะแพงกว่าการก่อสร้างทั่วไป เนื่องจากระบบโครงสร้างบริษัท

- ลูกค้าจะไม่ได้ทั้ง BOQ และแบบก่อสร้าง จะได้เพียงแค่ แปลน รูปด้าน ผังไฟฟ้า สุขาภิบาล ที่ตัดรายละเอียดจนเหี้ยนนนนหมดเลย (กันการฟ้องร้องผิดแบบ)


พูดง่ายๆ ความต่างคือ มีแบบบ้านสำเร็จพร้อมราคาให้เลือก เหมือนเดินไปร้านเค้กชอบแบบไหน ราคาเท่าไหร่จิ้มเลยรอรับสินค้า 


🔻ทำไมค่าก่อสร้างถึงแพงกว่าทั่วไป?


- บริษัทรับสร้างบ้านก็เหมือนนายหน้าที่มีสินค้าในมือ เมื่อมีคนสนใจมาสร้างบ้านกับเขา เขาก็ให้เลือกแบบตกลงราคาแล้วก็สร้างบ้าน จัดส่งมอบสินค้า (เรื่องเงินข้ามไปแล้วแต่จ่ายแบบไหน)

- ความสามารถในการสร้างต่อเดือนมีได้ตลอด นั่นเพราะนายหน้าจะจัดหาทีมผู้รับเหมาเข้ามาจอยตลอดเวลา มีทั้งทีมหลักที่สร้างประจำ ทำไม่ทันก็รับเข้ามา หรือบางที่เทรนผู้รับเหมาเป็นของบริษัทเอง

- ทีมนายหน้าหรือบริษัทรับสร้างบ้านเนี่ยแหละ คือรายจ่ายที่แฝงไปในงานก่อสร้าง คล้ายๆสร้างบ้านจัดสรรขายแหละ คนซื้อไม่ได้จ่ายแค่ค่าก่อสร้างแต่จ่ายส่วนอื่นแฝงไปด้วย ค่าก่อสร้างจึงกินกำไรมากกว่าปกติ 


🔻ถ้ามันแพงกว่าแล้วมีข้อดีอะไรบ้าง?


- มีวิศวกร โฟร์แมน ควบคุมงานก่อสร้างให้ ไม่ต้องกลัวว่าจะมีการเอนเอียง เขามีส่วนกลางคอยลงมาตรวจอีกที ลองนึกดูสร้างบ้านปกติ ถ้าจ้างวิศวกร โฟร์แมนมาควบคุมงานตลอดการสร้างบ้าน ต้องเสียอีกเท่าไหร่? แต่สร้างกับบริษัทรับสร้างบ้านเขาควบคุมงานให้ตลอดการสร้าง

- มีสถาปนิกคอยแก้แบบให้ถ้าหากอยากจะเปลี่ยน Function ต่อเติม หรือหน้าตาแบบบ้าน เปลี่ยนจนกว่าจะพอใจอ่ะ (เนี่ยมีสถาปนิกด้วย)

- ถ้าอยากออกแบบบ้านใหม่ก็ทำได้นะจ๊ะ มีสถาปนิกออกแบบให้ แต่อย่าหวังจะได้แบบก่อสร้าง เพราะเขารับสร้างบ้านไม่ใช่ออกแบบบ้าน  งานออกแบบถือเป็นบริการที่มีไว้ให้เฉยๆ

- ไม่โดนทิ้งงานกลางทาง เพราะหากผู้รับเหมาทิ้งงาน ทำไม่ดี หายไป ก็จะมีหัวใหม่เกิดขึ้นมาสานงานต่อเสมอโดยมีวิศวกรควบคุมงานต่อ

- สร้างไว เพราะแต่ละที่ต้องแข่งกันสร้างให้ไว มีการติดตามผลงานจากส่วนกลาง ยิ่งสร้างช้ากำไรจะยิ่งหด ส่งผลถึงโบนัสประจำปี (มีบ้างที่สร้างช้า เกเร แต่ทุกผลงานจะถูกกดดันในองค์กรเอง)

- แบบบ้านส่วนใหญ่ผ่านการสร้างมาหลายสิบหลัง ปัญหาจึงน้อย


เขียนเบื้องต้นให้อ่านเท่านี้ละกัน บางบริษัทก็แตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ไม่ต่างกันมากหรอก  เชิญสอบถามบริษัทที่ท่านสนใจได้เลยว่ามีแนวทางการดำเนินงานแบบใด อันนี้จากประสบการณ์ที่ผ่านของแอดคนเดียวเท่านั้นเอามาแชร์


Credit picture : สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน 

----------------------------------------------

💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n

-----------------------------------------------

EP147. 📌ผนังอิฐมวลเบา ทำอย่างไรไม่ให้ร้าว....ราน

 📌ผนังอิฐมวลเบา ทำอย่างไรไม่ให้ร้าว....ราน



1️⃣ ผนังชนมุมตัว T ต้องก่อเสาเอ็นตรงมุมชน

2️⃣ห้าม❗️❗️ฉาบหนาเกิน 1.5 ซม.

3️⃣ห้าม❗️ใช้เกรียงใบโพธิ์ในการก่อ ใช้เกรียงสำหรับก่ออิฐมวลเบาเท่านั้น (เกรียงอิฐมวลเบาถูกออกแบบมาเป็นหยัก ร่อง เวลาปาดจะได้เนื้อปูนก่อตามร่อง เวลากดอิฐมวลเบาลงไป เนื้อปูนก่อบนร่องสูงจะดันลงชนกันทำให้เนื้อปูนก่อสม่ำเสมอ และควบคุมระยะความหนาได้ที่ 2 มิลลิเมตรตามมาตรฐานความหนาปูนก่ออิฐมวลเบา)

4️⃣ระยะการทำเสาเอ็น คานเอ็น ดูตามคู่มือที่กำหนด ซึ่งระยะจะแตกต่างจากอิฐมอญ

5️⃣ก่ออิฐให้แต่ละก้อนแนบสนิท ไม่เห็นช่องแสง

6️⃣ใช้ปูนทรายรองใต้อะเสเหล็กเสมอ ห้ามก่อชน และห้ามเว้นร่อง ผนังจะสั่นและร้าวลงมา (ทั้งผนังฝั่งนอกและใน)

7️⃣การก่อชนคาน คสล.ให้ใช้ปูนทรายอุดเศษที่เหลือ หากช่องใหญ่มากสามารถผสมหินเกล็ดลงไปได้ (ทั้งผนังฝั่งนอกและใน)

8️⃣หากต้องฉาบหนาเกิน 1.5 ซม. ให้ติดลวดกรงไก่บนพื้นผิวที่ฉาบทุกจุดที่หนาเกิน

9️⃣สามารถใช้ ร่อง Groove line ตัด Joint ระหว่างแนวคานบนล่างกับผิวฉาบ ป้องกันการแตกร้าวจากการห้อยตัวของโครงสร้าง (การชักร่องไม่สามารถป้องกันรอยร้าวได้)

1️⃣0️⃣กรณีใช้ผนัง Q-CON หนา 7.5 ซม. ให้ทำเสาเอ็น/ คานทับหลัง คสล. ทุกมุม และรัดรอบวงกบช่องเปิด เช่นเดียวกับอิฐมอญ ยกเว้นผนังหุ้มท่อและกล่องเสาโชว์ที่มีความกว้างรวมกันทุกด้านไม่เกิน 1.5 เมตร

1️⃣1️⃣ ยึดด้วยหนวดกุ้งหรือ Metal Strap ทุก 40 เซนติเมตร หรือ 2 แถว


Credit : https://youtu.be/VUw5PP-xaZ8. ผู้เชี่ยวชาญ Q-con

📌ขั้นตอนการก่อตามมาตรฐาน Q-con


https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=170565335564091&id=100889769198315


📌การติดลวดกรงไก่ก่อนงานฉาบ


1️⃣ใช้ตะแกรงลวดกรงไก่ สี่เหลี่ยม 4 หุนเท่านั้น

2️⃣อุดร่องต่างๆ เช่น ร่องท่องานระบบไฟ ใต้ท้องคาน ด้วยปูนทรายให้เรียบ

3️⃣ตะแกรงกรงไก่ต้อง Cover จากขอบรอยแผลข้างละ 10 เซนติเมตร รวมไปถึงขอบบล็อกไฟลงมาข้างละ 10 เซนติเมตรเช่นกัน

4️⃣ใช้ตะปูไม้ ตียึดตะแกรงกรงไก่ ไม่จำเป็นต้องใช้ตะปูคอนกรีต

5️⃣ทุกมุมช่องเปิดตะตะแกรงกรงไก่ทะแยงขนาด 15x50 เซนติเมตร ติดทุกมุมทั้งภายในและภายนอก

6️⃣รอยต่อเสมอระหว่างเสากับผนัง ใช้ตะแกรงกรงไก่กว้าง 15 เซนติเมตร วางทับฝั่งอิฐมวลเบาและเสาข้างละ 7.5 เซนติเมตร  ส่วนผนังชนมุมเสาไม่ต้องติด

7️⃣อิฐมวลเบาถูกออกแบบมาให้ฉาบหนาไม่เกิน 1.5 เซนติเมตร (7-15 มิลลิเมตร) ในส่วนที่ฉาบหนากว่า 1.5 เซนติเมตรขึ้นไป ต้องติดตะแกรงกรงไก่ทั้งแผงในส่วนที่ฉาบหนา  ส่วนที่ต่ำกว่า 1.5 เซนติเมตรไม่ค้องติด


📌วิธีการซ่อมรอยร้าว

https://www.xn----0wfajacas1la7b4bzadg7av8fufhccl98ate6a2i.com/webboard/viewtopic/4

----------------------------------------------

💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n

----------------------------------------------

EP146. ตารางการทำเสาเอ็น-คานทับหลังอิฐมวลเบา

 💟 ตารางการทำเสาเอ็น-คานทับหลังอิฐมวลเบา



- สำหรับอิฐมวลเบาขนาด 7.5 ซม. สามารถก่อได้สูงสุด 3.5 เมตร

- การทำเอ็นของผนังภายนอกจะถี่กว่าผนังภายใน

- ผนังภายในสามารถก่อโดยไม่มีเสาเอ็นและคานทับหลังได้หากไม่เกินมาตรฐานกำหนด

- ผนังภายนอกจะมีประตู หน้าต่าง อยู่แล้วทำให้มีเสาเอ็น คานทับหลังไปในตัว

- คนละมาตรฐานกับอิฐมอญ


Credit : https://qcon.co.th/th/what-is-alc-block-/q-con-alc-block-manual

EP145. 🏘บ้านชั้นเดียวทำไมถึงแพงกว่าบ้าน 2 ชั้น!!!

 🏘บ้านชั้นเดียวทำไมถึงแพงกว่าบ้าน 2 ชั้น!!!




คนไทยส่วนใหญ่ยังคงชอบบ้านชั้นเดียว ด้วยสาเหตุหลักๆมาจากไม่อยากเดินขึ้น-ลง , ที่บ้านมีผู้สูงอายุและอีกส่วนหนึ่งคือ คิดว่าราคาถูกกว่าบ้าน 2 ชั้น ซึ่งความจริงมันแพงกว่า....ว่าแต่แพงกว่าที่ส่วนไหนบ้างล่ะ


ก่อนอื่นไม่ว่างทำแบบ ถอดราคาแบบบ้านชั้นเดียวและ 2 ชั้นให้ดูนะคะ เลยไปหาราคาคร่าวๆจากบริษัทรับสร้างบ้านที่เขาลงไว้มาเฉลี่ยให้ดู ไม่ต้องตกใจไปทำไมราคาถึงสูงปรี้ดปร้าดกว่าปกติ เคยบอกไปโพสที่แล้วว่าเขามีต้นทุน Overhead สูงกว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างทั่วไป  ดูแค่เพียงค่าเฉลี่ยอ้างอิงคร่าวๆพอค่ะ


🔻แบบบ้านชั้นเดียว


- 2,090,000 / 100 ตรม. เฉลี่ย 20,900 บาท/ตรม. (หลังคาหมาแหงน)

- 4,990,000 / 162 ตรม. เฉลี่ย 30,802 บาท/ตรม. (หลังคาปั้นหยา)

- 3,490,000 / 137 ตรม. เฉลี่ย 25,474 บาท/ตรม. (ทรงกล่อง)

- 3,950,000 / 170 ตรม. เฉลี่ย 23,235 บาท / ตรม. (ทรงกล่อง)

- 4,490,000 / 170 ตรม. เฉลี่ย 26,411 บาท/ตรม. (หลังคาหมาแหงน)


🔻แบบบ้าน 2 ชั้น


- 2,550,000/ 126 ตรม. เฉลี่ย 20,238 ยาท/ตรม. (หลังคาหมาแหงน)

- 3,950,000 / 198 ตรม. เฉลี่ย 19,949 บาท/ตรม. (ปั้นหยาทั่วไป)

- 3,650,000 / 156 ตรม. เฉลี่ย 23,397 บาท/ตรม. (ทรงนอร์ดิก)

- 5,550,000/ 246 ตรม. เฉลี่ย 22,560 บาท/ตรม. (ทรงกล่อง)

- 5,950,000/ 246 ตรม. เฉลี่ย 24,186 บาท/ ตรม. (ทรงกล่อง)


📌ส่วนไหนที่ทำให้ราคาแพงกว่าบ้าน 2 ชั้น


ลองนึกภาพสร้างบ้าน 150 ตรม. ชั้นเดียว กับ 2 ชั้นดูสิ บ้านชั้นเดียวแผ่เต็มพื้นที่ 150 ตรม. บนที่ดิน ส่วนบ้าน 2 ชั้น คิดง่ายๆก็คือชั้นละ 75 ตรม. แล้วตรงส่วนนี้แหละ 150 กับ 75 ที่มันคือจุดต่างกัน


🔹ฐานราก,เสาเข็ม,งานขุดดิน

- บ้านชั้นเดียวใช้ฐานรากและเสาเข็มเยอะกว่าแน่นอน เช่น ชั้นเดียวใช้ 22 จุด ส่วนบ้าน 2 ชั้นใช้  12 จุด


🔹ไม้แบบ

- บ้านชั้นเดียวแผ่บนที่ดิน 150 ตรม. เวลาเทคอนกรีตหากเทพร้อมกันก็ใช้ไม้แบบเยอะกว่าตามจำนวนฐานราก เสา คาน ที่แผ่บนดิน


🔹โครงหลังคา

- บ้าน 2 ชั้น มีพื้นที่โครงหลังคาน้อยกว่าบ้านชั้นเดียวเกือบเท่าตัว

- ยิ่งขนาดบ้านเป็นก้อนมากเท่าไหร่ การทำหลังคาจั่ว ปั้นหยา ก็ยิ่งใช้จำนวนเหล็กที่มากขึ้นเนื่องจากช่วง span ใหญ่ ทำให้ Slope หลังคาดันตัวโครงสูงขึ้น ยิ่งโครงใหญ่ก็ต้องรับทั้งน้ำหนักหลังคาและน้ำหนักตัวมันเอง


🔹กระเบื้องหลังคา

- บ้าน 2 ชั้น มีพื้นที่มุงกระเบื้องหลังคาน้อยกว่าบ้านชั้นเดียวเกือบเท่าตัว


🔹การยกความสูงชั้นที่ 1

- บ้านชั้นเดียวชอบยกสูง 1.00-1.50 เมตร จึงทำให้เพิ่มคานคอดิน กำแพงก่อปิดใต้ถุน

- บ้าน 2 ชั้น ไม่นิยมยกสูง เพราะจะทำให้สัดส่วนดีดเป็นม้าดีดกะโหลก


ส่วนที่บ้านชั้นเดียวใช้น้อยกว่าก็มีเช่น นั่งร้าน แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะบอกแล้วยิ่งออกแบบแปลนเป็นก้อน ยิ่งทำให้ span เสามีช่วงกว้างส่งผลถึงขนาดหลังคา ผนังก่อ อีกทั้งต้องออกแบบสัดส่วนตัวบ้านไม่ให้เตี้ยตัน จึงต้องดีดความสูง สัดส่วนฐานบ้านและช่วงเสาขึ้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่เห็นบ้านชั้นเดียวสร้างใหญ่ โอ่โถ ตระหง่านตา


Credit : https://idea-home.thailetgo.com/10289?=บ้านพักอาศัยชั้นเดียว-ขนาด-4-ห้องนอน-3-ห้องน้ำ-พื้นที่ใช้สอย-160-ตรม/ดูไอเดียบ้าน/แบบบ้าน

: https://bbs-property.com/หาไอเดียทำบ้าน/แบบบ้าน-2-ชั้น-สวย-ๆ/

: https://m.pantip.com/topic/35450908?


----------------------------------------------

💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n

-----------------------------------------------

EP144. 📌Renovate ควบคุมงบยากมั้ย?

 📌Renovate ควบคุมงบยากมั้ย?



ยากค่ะ.... เกินก็ตัด ลด spec ตัดจนเหี้ยน หัวเกรียนกันไปเลย....


ปัญหาอย่างหนึ่งของงาน Renovate คือการควบคุมงบ ด้วยส่วนหนึ่งคนมักคิดว่า "มันต้องถูกกว่าการสร้างบ้านใหม่" จนทำให้หลายคนตกม้าตาย โดนม้าเหยียบไส้ทะลัก


อย่างที่เคยเขียนไปว่า การ Renovate คือการทำต่อจากของเดิมดังนั้นปลายทางจุดจบของมันจึงมีหลายแบบมาก บางคนทุบกระจายแล้วจบที่ Built-in แบบ Full Option บางคนก็แค่เปลี่ยน Function และ Built-in นิดหน่อย ดังนั้นมันจึงไม่สามารถบอกราคา / ตรม.ได้เหมือนการก่อสร้างใหม่


📌ปัญหาที่ทำให้งบบานปลาย


1️⃣ไม่แจ้งงบแต่แรก ลองเชิง ให้ออกแบบมาก่อน


- อย่าหาทำนะเด้อ....สถาปนิกออกแบบไม่ถูกหรอกว่าต้องการแบบไหน แค่ไหน 

- อย่าไปอายถ้าจะบอกงบประมาณ ชัดเจนไปเลย ใครทำได้ก็ทำถ้าทำไม่ได้ก็เก็บเงินอีกนิด

- ถ้าไม่แจ้งงบแต่แรก พอถอด BOQ ออกมางบเกินที่ตั้ง กดไม่ลง ตัดก็ไม่ลง ลด spec ก็ไม่ลง เสียแบบฟรีแถมต้องมาเสียเงินค่าแบบด้วย เอาไปจ้างคนอื่นทำต่อก็ไม่ได้ ผิดจรรยาบรรณ ถ้าสถาปนิกรู้โดนฟ้องไปอีก....เตือนละนะฮะ

- แนะนำแจ้งงบแต่แรก เช่น 1.5 ล้านบาท พอถอด BOQ ได้ 3.4 ล้านบาท คราวนี้หน้าที่เป็นของสถาปนิกแก้ปัญหาแล้ว จะด้วยการเพิ่มระหว่างทางหรืออย่างไรก็ต้องมานั่งคุยกันนะจ๊ะ ตะแบงไปก็ไม่ดีหรอก บอกแล้วแบบเอาไปใช้ที่ไหนต่อไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือจ่ายเงิน หรือยกเลิกแบบ แล้วนำแบบไปสร้าง


2️⃣แจ้งงบไปแล้ว ระหว่างทางขอเพิ่ม นู่นนี่ สถาปนิกเตือนไม่ฟังหรือสถาปนิกเองก็ไม่รู้ว่าเกินมั้ย


- แนะนำแบ่งการทำงานเป็น Phase ไป เช่น 1.ทุบ รื้อ ปรับปรุงตัวอาคาร 2.Built-in ในส่วนที่จำเป็น 3.Furniture และม่าน 4.เครื่องปรับอากาศ  เรียงลำดับความสำคัญในการทำงาน การใช้งาน เพื่อดูว่างบที่มีอยู่สามารถทำได้ถึงขั้นไหน เมื่อเจ้าของหาเงินมาเพิ่มได้ในอนาคตก็ค่อยมาต่อแบบเอาทีหลัง


3️⃣โครงสร้างหน้างานมีปัญหามากกว่าที่คิด ทุบไป Surprise ไป


- เจอปัญหาแน่นอน เพราะตอนออกแบบก็ประเมินแค่ภายนอกไม่สามารถไปทุบ รื้อ ดูอาคารได้หรอก ส่วนนี้จึงเป็นจำนวนเงินที่ต้องมานั่งคุยกันว่ามันจะ Cover ใน BOQ มั้ย มีแน่นอนงานเพิ่ม-ลด


4️⃣ถอด BOQ ผิดพลาด


- เพราะงานรีโนเวทมันถอดยาก ถอดไม่เหมือนงานสร้างใหม่ มีหลายระดับขึ้นอยู่กับงานว่าทำมากน้อยเพียงใด งานสร้างใหม่สามารถประเมินได้จากแบบก่อสร้างเลยเพราะทุกอย่างสร้างใหม่ ถอดเป็นราคา/ตรม.ได้

- หน้างานมีเรื่อง Surprise อยู่ตลอดทำให้เกินจาก BOQ

- ประเมินขั้นตอนและสถานการณ์ความยากง่ายผิด

- ส่วนที่จะขาดทุนก็คืองานเตรียมการ รื้อ ถอน เก็บ กอง หาที่ทิ้ง ต่างๆ


สรุป : บอกงบประมาณไปเลย แล้วลำดับขั้นตอนการทำงาน ถ้ามันเกินก็ทำส่วนจำเป็นแล้วมาต่อเมื่อมีเงิน


----------------------------------------------

💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n

----------------------------------------------

EP143. 😱🥵 เ ป ลี่ ย น แ บ บ นิ ด ห น่ อ ย นิดจริงมั้ย?

 😱🥵 เ ป ลี่ ย น แ บ บ นิ ด ห น่ อ ย นิดจริงมั้ย?


ถ้าคุณจะเปลี่ยนแบบตอนช่วงออกแบบแรกๆเขาก็ให้คุณเปลี่ยนจ้าาา เพราะตอนนั้นแบบยังไม่ได้กระจายออกไปไหน ยังมีแค่แบบแปลน กับ 3D Model อยากปรับแก้อะไร เชิญเลย


แต่เมื่อไหร่ที่ถึงการออกแบบครั้งสุดท้าย แบบแปลน รูปด้าน รูปตัด 3DModel ถูก Fix โดยคุณลูกค้าเมื่อไหร่ ก็ควรที่จะหยุดแก้ได้แล้ว นั่นเพราะอะไรน่ะเหรอออ?


" เพราะเขากระจายแบบออกไปให้วิศวกรโครงสร้าง ไฟฟ้า สุขาภิบาล เรียบร้อยแล้ว "


กระจายแล้วไง ยากตรงไหน ตามแก้สิ!!!


🔻เราจะบอกให้ค่ะ แก้แบบ 1 จุดต้องเจออะไร? 


**สมมุติขยายความกว้างห้องนอน**


- แปลน : แก้ระยะผนัง แก้ไลน์เสา ขยับสัญลักษณ์ผนัง 

- รูปด้าน : แก้อย่างน้อย 3 รูป

- รูปตัด : อันนี้แก้มันส์ แก้หลังคา โครงสร้าง ไดเมนชั่น

- แก้ Xref ของผัง

- ผังฝ้าเพดาน : ตำแหน่งดวงโคม ตำแหน่งจุดไฟฟ้าต่างๆ

- แบบปูกระเบื้อง

- ผังฐานราก ขยับตำแหน่ง

- ผังคาน ขยับแนวคานใหม่

- ผังหลังคา แก้โครงหลังคาใหม่เพราะขยายขนาดห้อง


🔻คิดดูนะ 1 จุด ยังต้องแก้ขนาดนี้ แล้วบอกว่านิดหน่อย หน่อยจริงไหม.... แล้วการที่ส่งแบบออกไปแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าวิศวกรเขาคำนวณให้เราแล้วหรือยัง 


- หากส่งไฟล์ไปใหม่ เคยเจอมั้ย สับสนแบบโหลดมาแล้วจำสับสน หรือโหลดมาแล้วแต่พอเปิดเป็นไฟล์ตัวเดิม ชื่อตีกัน

- หากเปลี่ยนแบบตอนวิศวกรคำนวณโครงสร้าง ก็ งง กันไปใหญ่ คนซวยคือสถาปนิกต้องทำแบบแยกให้ดูว่าแก้ตรงไหนไปบ้าง รีเชคแบบกับวิศวกร  นี่แหละทำให้แบบหลุด


ตอนรวมแบบก็ตรวจกันตาแตกว่าตรงไหนไม่ตรงกัน เชื่อสิว่าหลุด ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สถาปนิกส่วนใหญ่ก็ยังใช้ Autocad กันอยู่ ถึงบางคนจะใช้การเขียนแบบผสมผสาน BIM ก็ตาม แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อย ดังนั้น ถ้าอยากให้บ้านจบสวย ก็ควรศึกษาความต้องการตัวเองก่อนจะจ้างออกแบบ จะได้ปวดหัวตอนสร้างกับแบบไม่ตรงกันนะจ๊ะ


----------------------------------------------

💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n

EP142. เปลี่ยนหลอดไฟ💡เลือกหลอดยังไงดี?


 เปลี่ยนหลอดไฟ💡เลือกหลอดยังไงดี?


เชื่อว่าต้องมีใครหลายๆคนที่อยากจะเปลี่ยนหลอดไฟ แต่ไม่รู้ว่าจะต้องเลือกหลอดอย่างไร ต้องดูตรงส่วนไหนบ้าง ยิ่งสำหรับสาวๆแล้วล่ะก็ อิยั๋ง วะ? งั้นเรามาตั้งสติ ค่อยๆเลือกทีละ Step กันค่ะ


🔻ก่อนอื่นเราต้องแยกส่วนประกอบดวงโคมให้ได้ก่อนว่าหลักๆมันมีอะไรบ้าง


1️⃣.ประเภทการกำเนิดแสง หรือตัวหลอด

- หลอดไส้ (Incandescent Lamp) แสงเกิดจากไส้หลอด กินไฟมาก

- หลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent tube) แสงไฟเกิดจากกระแสไฟฟ้าไหลผ่านปรอท จะคายพลังงานในรูปแบบรังสีอัลตราไวโอเลต เมื่อกระทบสารเรืองแสงที่ฉาบไว้ หลอดก็จะเปล่งแสงออกมา

- หลอดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดตะเกียบ การทำงานคล้ายหลอดฟลูออเรสเซนต์

- หลอด LED แสงสว่างเกิดขึ้นจากการเคลื่อนของอิเล็กตรอนภายในสารกึ่งตัวนำหลอด


2️⃣.ขั้วหลอด 

สำหรับบ้านพักอาศัย ใช้กันอยู่ไม่กี่แบบหรือพูดง่ายๆคือ ประมาณ 7-11 มีขาย โดยหลักๆที่ใช้กันเยอะๆจะแบ่งเป็นแบบดวงโคมและหลอดนีออนแบบราง 

:: ประเภทดวงโคม 💡

- E27 เป็นทรงที่นิยมที่สุด ใช้ได้ทั้งหลอดไส้ LED หลอดตะเกียบ หลอดทรงน้ำเต้า ทรงปิงปอง ทรงกระเปาะ BULB เรียกได้ว่าขวัญใจบ้านพักอาศัยทั่วไป

- E14 เป็นขั้วหลอดจำปา ประเภทหลอดไส้ปัจจุบันสามารถหาซื้อหลอด LED ขั้ว 14 มาแทนหลอดไส้ได้แล้ว

:: ประเภทแบบราง

- G13 ขั้วแบบเขี้ยวใช้กับหลอดนีออน T8, T5 (ฟลูออเรสเซนต์) ซึ่งบ้านสมัยเก่า บ้านต่างจังหวัดมักนิยมหลอดไฟประเภทนี้


3️⃣.ขั้วต่อหลอดไฟ / รูปแบบขั้วที่ฐาน

สำหรับประเภทขั้วต่อหลอดไฟนั้นจะสัมพันธ์กับขั้วหลอดไฟเราสามารถดูจากรูปทรงของขั้วต่อหลอดไฟหรือจากหลอดไฟเก่าที่ถอดออกมาก็ได้  ส่วนประเภทรูปแบบขั้วที่ฐานนั้นก็มีหลายแบบดังนี้

- ขั้วแป้น

- ขั้วห้อย

- ขั้วพร้อมสวิตช์

- ขั้วกันน้ำ

-----------------------------------------------

🔷 วิธีการดูหลอดไฟเพื่อนำไปเลือกซื้อ


🔻STEP 1 : ดูรูปทรงหลอดว่าเป็นหลอดแบบไหน?

ปัจจุบันมีหลอดหลายแบบมากแต่ที่นิยมที่สุดคือ แบบกระเปาะ(BULB)/ แบบคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ /แบบฟลูออเรสเซนต์ หลอดนีออนรางยาว

🔻STEP 2 : ดูที่ขั้วหลอด / ขั้วต่อหลอดไฟเดิม

เพื่อดูว่าเป็นขั้วแบบไหน เช่น หลอดดวงโคม ขั้ว E27 หรือแบบรางนีออน ขั้ว G13

🔻STEP 3 : ทำการเลือกหลอดไฟที่จะเปลี่ยน

โดยหลักๆที่ต้องดูมีดังนี้

- ขั้วหลอดไฟ ให้ตรงกับขั้วต่อหลอดไฟเดิม

- ประเภทหลอดที่ต้องการ เช่น LED , หลอดตะเกียบ

- W หรือ watt อัตราการกินไฟนั่นเอง แต่อย่าคิดจะเอา W น้อยอย่างเดียว เพราะการกินไฟน้อยก็ส่งผลต่อความสว่างของแสง(Lumen)ด้วย ถ้าต้องการสว่างมาก จำนวน W จะยิ่งมาก 

- Lumen คือ ความแรงของแสงที่เปล่งออกมา หากต้องการเปลี่ยนหลอดไฟห้องใหม่ ควรคำนวณค่าความส่องสว่างพื้นฐานในแต่ละห้องประกอบเพื่อช่วยเรื่องการมองเห็นและคุณภาพชีวิต  https://www.facebook.com/100889769198315/posts/155953227025302/?d=n

- โทนแสงที่ต้องการ โดยปกติมาตรฐานมี 4 โทนสี Warm white 2700-3000k ออกส้ม ,ออกส้ม 3500-4100k, Natural white 4000-5000k , Day light 5500-6500k  โดยค่าต่ำๆจะมีโทนแสงสีส้ม ส่วนค่าสูงๆ จะเริ่มขาวไปจนถึงสีฟ้า

- CRI ย่อมาจาก “Color Rendering Index” หรือค่าความถูกต้องของสี ยิ่ง CRI ต่ำ ยิ่งมองเห็นสีของวัตถุค่อนข้างหม่น-ไม่สดใส ในขณะที่ค่า CRI ยิ่งสูง ความสดของสีก็จะยิ่งมากขึ้นตามลำดับ  

- กระแสไฟ 220-240V สำหรับไฟฟ้าในประเทศไทย

- มาตรฐาน มอก.

----------------------------------------------

💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n

-----------------------------------------------

EP141.อิฐที่ใช้สร้างบ้านมีอะไรบ้าง

 🧱อิฐที่ใช้สร้างบ้านมีอะไรบ้าง?



วันนี้รวบรวมอิฐที่ใช้สร้างบ้านในปัจจุบันมาให้ดูว่ามีอัไรบ้างค่ะ บางอย่างก็ยังไม่แพร่หลายแต่ลองดูไว้เป็นทางเลือก


1.อิฐมอญ หรือ อิฐแดง

2.อิฐเซรามิกหรืออิฐพันปี

3.อิฐบล็อกประสาน 

4.บล็อกประสานมวลเบา

5.คอนกรีตมวลเบา หรือ อิฐมวลเบา

6.คอนกรีตบล็อก หรือ อิฐบล็อก

7.คอนกรีตบล็อกนาโน หรือ อิฐบล็อกนาโน

8.อิฐคูลบล็อก Cool Block

9.อิฐขาว


💟การเลือกใช้งานวัสดุแต่ละชนิดในการสร้างบ้าน


🔻1.อิฐมอญหรืออิฐแดง


ค่าการดูดซึมน้ำ : 10-17% แล้วแต่แหล่งผลิต

ความหนาแน่น kg/m3 : 1,100

จำนวนก้อน/ตรม. : 120

น้ำหนัก/ตรม. : 130 kg

ขนาดก้อน : 3x6x15 cm


จุดเด่น : 

- ช่างชำนาญในด้านการก่อเพราะเป็นการก่อผนังที่นิยมมาตั้งแต่อดีต

- เนื้ออิฐมีรูพรุนน้อย ดูดซึมน้ำ จึงใช้ก่อห้องน้ำได้

- การยึด เจาะ ผนัง ทำได้ง่าย


จุดด้อย

- อิฐก้อนเล็ก ใช้ระยะเวลาในการก่อหลายวัน 

- ต้องทำเสาเอ็นและคานเอ็น

- สะสมความร้อนที่ตัวอิฐ


ข้อควรระวัง : 

- ไม่ควรก่อผนังให้จบแผงในวันเดียวเพราะปูนก่อมีการยุบตัว


🔻2.อิฐเซรามิกหรืออิฐพันปี


ค่าการดูดซึมน้ำ : 4-5% แล้วแต่แหล่งผลิต

ความหนาแน่น kg/m3 : 1,600

จำนวนก้อน/ตรม. : 14

น้ำหนัก/ตรม. : 120kg

ขนาดก้อน : 7.5x20x35 cm


จุดเด่น : 

- ความพรุนน้อยกว่าอิฐมอญ ความหนาแน่นสูง

- รับน้ำหนักได้มากแต่น้ำหนักตัวมันเองไม่มาก

- มีรูกลวงใหญ่ เป็นฉนวนกันความร้อนในตัว

- ขนาดก่อนมาตรฐานกว่าอิฐมอญ

- ตัวก้อนเป็นระบบ Interlog

- ฉาบบางได้ ประหยัดปูน


จุดด้อย : 

- ราคาค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรพอๆกับอิฐมอญ


ข้อควรระวัง : นึกไม่ออก นอนน้อยช่วงนี้


🔻3.อิฐบล็อกประสาน


ค่าการดูดซึมน้ำ : 10-18

ความหนาแน่น kg/m3 : 1,400-1,600

จำนวนก้อน/ตรม. : 40

น้ำหนัก/ตรม. :

ขนาดก้อน : 10x12.5x25


จุดเด่น : 

- ใช้การ Inter log กันของเดือย ไม่ต้องมี

- ไม่ต้องเสียเวลาก่อปูนหรือรอปูนก่อเซทตัว

- ไม่ต้องฉาบ

- ไม่ต้องมีเสาเอ็นและคานเอ็น เนื่องจากมีความแข็งแรงจากน้ำปูนที่กรอกและเดือยที่ล็อกกันไว้


จุดด้อย : 

- ต้องกรอกน้ำปูนเพิ่มความแข็งแรงโครงสร้าง

- ยังไม่เป็นที่นิยมหรือทางเลือกหลัก แต่มีสร้างกันหลากหลาย

- ส่วนผสมแต่ละที่หลากหลาย


ข้อควรระวัง : 

- หากไม่ได้ฉาบผิว ควรเคลือบผนังน้ำยาประเภท Water Repellant ลักษณะใส (โปร่งแสง)  ที่มีคุณสมบัติป้องกันทั้งน้ำและความชื้นได้ดี มีให้เลือกเป็น 2 ประเภท คือ 1.  ชนิดมีฟิล์มสีใส เงามัน 2.ชนิดไม่ขึ้นฟิล์มสี

- ไม่นิยมฉาบทับเพราะจะเพิ่มน้ำหนักโครงสร้าง

- ยังไม่แพร่หลาย ควรหาช่างที่ชำนาญด้านการก่ออิฐบล็อกประสาน

- การสร้างมากกว่า 1 ชั้น ควรปรึกษาวิศวกร

เพิ่มเติม : https://itdang2009.com/วิธีก่อผนังอิฐบล็อกประ/


🔻4.บล็อกประสานมวลเบา


ค่าการดูดซึมน้ำ : 25

ความหนาแน่น kg/m3 : 1,000-1,100

จำนวนก้อน/ตรม. : 22.22

น้ำหนัก/ตรม. : 200-240

ขนาดก้อน : 9.5x15x30


จุดเด่น : 

- ลูกผสมระหว่างบล็อกมวลเบากับบล็อกประสาน

- น้ำหนักเบา


จุดด้อย : 

- ไม่ต้องก่อแบบอิฐแต่ต้องใช้น้ำปูนทรายหยอดลงรูแทน


ข้อควรระวัง : 

- ยังไม่แพร่หลาย ควรหาช่างที่ชำนาญด้านการก่ออิฐบล็อกประสาน

- ผู้ออกแบบควรศึกษาข้อมูลเรื่องนี้จากผู้ผลิตถึงวิธีการใช้งาน ข้อจำกัด อย่างถี่ถ้วน เนื่องจากข้อมูลเรื่องนี้ใน internet นั้นมีให้ศึกษาน้อยมาก


🔻5.คอนกรีตมวลเบา หรือ อิฐมวลเบา


ค่าการดูดซึมน้ำ : 40+

ความหนาแน่น kg/m3 : 700

จำนวนก้อน/ตรม. : 8.33

น้ำหนัก/ตรม. : 50

ขนาดก้อน : 7.5x20x60


จุดเด่น : 

- น้ำหนักเบา ลดน้ำหนักในโครงสร้าง

- ช่างมีความชำนาญ หาได้ทั่วไป

- ตัวคอนกรีตมีความพรุนเสมือนสูญญากาศจึงกันความร้อนได้

- ก้อนใหญ่ ก่อไว ไม่ต้องรอปูนก่อเซ็ตตัว

- มีขนาดก้อนที่หลากหลายตั้งแต่ 7.5 cm จนถึง 25 cm

- ย่นระยะเวลาในการก่อสร้างให้ไวขึ้น


จุดด้อย : 

- ตัวคอนกรีตมีความพรุน จึงดูดน้ำได้ดี

- ไม่เหมาะนำไปใช้ในส่วนที่โดนน้ำ น้ำขังตลอดเวลาเช่นห้องน้ำ

- รับน้ำหนักได้น้อยกว่าอิฐมอญ

- ต้องใช้พุกสำหรับผนังอิฐมวลเบาโดยเฉพาะ


ข้อควรระวัง : 

- ใช้ปูนก่อและปูนฉาบสำหรับอิฐมวลเบาเท่านั้น

- ควรเก็บไว้ในที่ที่ไม่โดนฝน


อ้างอิงการดูดซึมน้ำ : https://ph02.tci-thaijo.org/index.php/eng_ubu/article/download/84408/67210/204511

และ https://www.tsme.org/home/phocadownload/MENETT21/amm/amm32/the%20effect%20of%20air%20bubbles%20on%20absorb%20moisture%20%20in%20construction%20materials%20of%20building%20amm32.pdf?fs=e&s=cl


🔻6.คอนกรีตบล็อก หรือ อิฐบล็อก


ค่าการดูดซึมน้ำ : 10-11 แล้วแต่แหล่งผลิต

ความหนาแน่น kg/m3 : 1,800-2,000

จำนวนก้อน/ตรม. : 12-13

น้ำหนัก/ตรม. : 120

ขนาดก้อน : 7x19x39


จุดเด่น : 

- ใช้งานได้หลากหลาย มีหลายชั้นคุณภาพ แยกตามประเภทการใช้งาน

- ชั้นคุณภาพ ก : กำแพงภายนอกใต้ดิน บนดิน ไม่มีการปกป้องผิว

- ชั้นคุณภาพ ข : กำแพงภายนอกใต้ดิน บนดิน มีการปกป้องผิว

- ชั้นคุณภาพ ค : ใช้ทั่วไป กำแพงภายในภายนอก มีการปกป้องผิวกันความเสียหายจากดินฟ้าอากาศ


จุดด้อย : 

- เนื่องจากความกลวงมีมาก จึงไม่เหมาะกับการทำผนังที่ต้องเจาะเพื่อรับน้ำหนัก

- ซึมน้ำได้ง่าย


ข้อควรระวัง : 

- ควรเลือกอิฐที่มี มอก.

- ควรนำคอนกรีตบล็อกไปแช่น้ำก่อนใช้งาน 1 ก้อน เพื่อดูว่าเปื่อย ยุ่ย หรือไม่


🔻7.คอนกรีตบล็อกนาโน หรือ อิฐบล็อกนาโน


ค่าการดูดซึมน้ำ : -

ความหนาแน่น kg/m3 : -

จำนวนก้อน/ตรม. : 13-14

น้ำหนัก/ตรม. : 218

ขนาดก้อน : 20x40x18


จุดเด่น :

- ไม่ต้องมีเสาและคาน 

- เนื้อเป็นคอนกรีต สามารถผสมได้ตามสูตร

- โครงสร้างเป็น Wall bearing system

- ก่อสร้างแบบ Modular หรือต่อแบบเลโก้

- ใช้งานได้หลากหลายประเภท

- ทำตัวอิฐเองได้โดยการซื้อโมลมาหล่อเอง


จุดด้อย : 

- เหมาะสำหรับสร้างบ้าน 1-2 ชั้น สูงไม่เกิน 6 เมตรเท่านั้น


ข้อควรระวัง : 

- เนื่องจากเป็นระบบการก่อสร้างแบบใหม่ ควรศึกษาและตัดสินใจให้ดี

- ต้องทำการบ่มน้ำเหมือนบ่มคอนกรีต


🔻8.อิฐคูลบล็อก Cool block


ค่าการดูดซึมน้ำ : 14%

ความหนาแน่น kg/m3 : 1,800-2,000

จำนวนก้อน/ตรม. : 12-13

น้ำหนัก/ตรม. : 110-120

ขนาดก้อน : 7x19x39


จุดเด่น :

- ขนาดก้อนเท่าคอนกรีตบล็อกหรืออิฐบล็อก

- มีโฟม EPS ตรงกลางเป็นฉนวนกันเสียงกันความร้อน


จุดด้อย : 

- ถึงจะมีโฟมมาชูจุดขายด้านการกันเสียงกันร้อน แต่ตัวมันเองยังมีจุดด้อยคือ สามารถยุ่ยได้เมื่อโดนน้ำ


ข้อควรระวัง : 

- เทสการแช่น้ำ 1 ก้อนก่อนใช้เพื่อดูคุณภาพวัสดุ


🔻9.อิฐขาว


ค่าการดูดซึมน้ำ : 15%

ความหนาแน่น kg/m3 : 1,600

จำนวนก้อน/ตรม. : 30-32

น้ำหนัก/ตรม. : 150

ขนาดก้อน : 7x11x24


จุดเด่น :

- มีให้เลือกทั้งแบบก่อโชว์และก่อฉาบ

- ความหนาแน่นสูงเท่าอิฐเซรามิก

- ตัวอิฐมีร่อง ช่วยในการฉาบแบะยึดเกาะ

- ใช้ปูนก่อ ปูนฉาบ เช่นเดียวกับอิฐมอญเนื่องจากอัตราการดูดน้ำต่ำ ไม่แย่งน้ำเหมือนอิฐมวลเบา

- ดึงข้อดีของอิฐมอญกับอิฐมวลเบามารวมกัน


จุดด้อย : 

- ต้องสั่งกับผู้ผลิตโดยตรง ไม่ได้มีขายทั่วไปตามท้องตลาด

- ค่าจัดส่งที่สูงตามเพราะสถานที่ผลิตมีน้อย


หมายเหตุ : ข้อมูลที่นำมานั้น เป็นข้อมูลจากผู้ผลิตซึ่งบางทีอาจจะไม่ได้ตรงกับ มอก. และบางข้อมูลนั้นอาจคลาดเคลื่อนเนื่องจากส่วนผสมที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละที่


----------------------------------------------

💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n

-----------------------------------------------

EP140.💡 ค่า K กับการเลือกซื้อโทนสีของหลอดไฟ ❗️

 💡 ค่า K กับการเลือกซื้อโทนสีของหลอดไฟ ❗️






เลือกแสงไฟให้เหมาะสมกับการใช้งาน


3000K Warmwhtie - ห้องนอน ห้องรับแขก ห้องน้ำ ให้โทนแสงอบอุ่น ตามร้านอาหาร รีสอร์ท โรงแรมชอบใช้ เหมาะแก่การพักผ่อน


4000K Natural light- แสงธรรมชาติ - ทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ชอบทั้ง 2 โทนสี เป็นโทนแสงผสมทั้ง 2 โทนใช้ในงานตกแต่ง ไฟซ่อนหลืบ งาน Display ต่างๆ หรือจะใช้ในห้องนอน ห้องรับแขก ห้องน้ำแทน warmwhite ก็ได้ แล้วแต่ทางเลือก 


6500K Cool white - ห้องทำงาน ห้องครัว ให้ความรู้สึกกระฉับกระเฉง และเหมาะสำหรับกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา


----------------------------------------------

💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n

-----------------------------------------------

ที่มารูปภาพ : https://youtu.be/_-3O4qOgnkE

EP139.💟ใครจะซื้อบ้านจัดสรร มีเทคนิคมาฝาก

 💟ใครจะซื้อบ้านจัดสรร มีเทคนิคมาฝาก



1️⃣ ขนาดพื้นที่ขาย ตรงกับขนาดพื้นที่บ้านในแบบ เช่น เราซื้อบ้าน 180 ตรม. พอเราวัดจริงเราก็ต้องได้ 180 ตรม.

วิธีคิดพื้นที่ของแต่ละโครงการก็ต่างกัน แต่ที่ใช้เหมือนๆกัน คือ  คิดจาก CENTER เสา ไปจนถึง CENTER เสา  ส่วนที่ยื่นจะคิดจาก CENTER เสาไปจนถึงขอบนอกคานที่ยื่น  ส่วนใหญ่จะไม่คิดบันไดขึ้นบ้านชั้น 1 ที่ไม่มี OPTION พิเศษอะไร และทางลาดเข้าที่จอดรถ คิดแต่บนโครงสร้างหลักเท่านั้น  


คำถามคือ ทำไมต้องเชค  ? เพราะบางโครงการ ไม่ให้แบบ PLAN โดยบอกให้ลูกค้าไปดูบ้านตัวอย่าง อย่าคิดว่าเรื่องเล็ก 1 ตรม.เป็นเงินกี่บาทมาดูกัน

(ค่าก่อสร้าง x กำไร 1.35 เช่น  ก่อสร้าง  ตรม.ละ 9,000 บาท โครงการจะขาย  9,000x1.35 = 12,150 บาท)


2️⃣ รายการมาตรฐานวัสดุโครงการ ทางบริษัทควรจะให้กับลูกค้านับตั้งแต่วางเงินจอง เอาจริงๆควรให้ลูกค้าที่เข้ามาดูทุกคน เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบ

โครงการอื่นๆโดยรอบ  แต่ส่วนใหญ่บริษัทมักจะไม่ให้รวมถึงแบบแปลนด้วยเนื่องจาก กลัวถูกลูกค้าฟ้องร้องเมื่อวัสดุ และรูปแบบบ้านไม่ตรงกับที่ให้ลูกค้า

เพราะเมื่อฟ้องร้องขึ้นมาบริษัทมักจะแพ้  ฉะนั้นบริษัทที่กล้าให้คือบริษัทที่จริงใจ


ความสำคัญมันอยู่ตรงนี้  สเปคส่วนใหญ่ที่ระบุในแบบจะเป็นงานสถาปัตย์ เราสามารถเชคได้ด้วยตนเองเบื้องต้นว่า ทางโครงการให้เสปคเราแบบไหน

โครงการนึงบ้าน 180 ตรม.เท่ากัน แต่ราคา 2.7 ล้านบาท อีกโครงการ 2.5 ล้านบาท  คนส่วนใหญ่ก็จะเลือก 2.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกันในราคาที่ถูกกว่า

แต่ คุณภาพวัสดุ เราเชื่อว่าลูกค้าจำไม่ได้หรอกว่าแต่ละโครงการให้อะไร ซึ่งมันคือข้อสำคัญ  โครงสร้างรับประกัน 5-10 ปี แต่วัสดุไม่มีใครมารับประกันนะจ๊ะโครงการนี้อาจจะใช้ อลูมิเนียม เก็บงานอย่างดี  อีกโครงการใช้ UPVC  ก็ต่างกันแล้ว


3️⃣ ทำการสอบถามถึงการรับประกันของตัวบ้านว่า ทางโครงการมีการรับประกันอะไรให้บ้าง เช่น  โครงสร้าง 10 ปี หลังคา 5 ปี ผนังไม่ใช่โครงสร้าง 2 ปี ประกันหลังการขาย เมื่อบ้านมีปัญหา 1 ปี  มีการเทสการขังน้ำบริเวณหลังคา SLAB และพื้นห้องน้ำมั้ย และเมื่อมีการตกลงซื้อขายและเซ้นมอบบ้าน

ก็อย่าลืมสัญญาพวกนี้  ข้อกำหนดที่สำคัญอย่างนึงของการรับประกันคือ เมื่อคุณต่อเติมงานที่เกี่ยวกันถึงโครงสร้างบ้าน ต่อยื่นขยายออกไป หมดประกันโครงสร้างทันที


4️⃣ เมื่อเราตัดสินใจวางเงินจอง จองบ้านไปแล้ว ทางที่ดีเราไม่ควรไปจู้จี้เปลี่ยนแบบ นู่น นั่นนี่มากนัก เนื่องจากการที่เราเปลี่ยนมันส่งผลกับการทำงานของช่างที่ต้องการจบงานไว มีผลกับขั้นตอนการเบิกงวดงาน  เข้าใจว่าเสียเงินซื้อบ้านแล้ว ก็จะเปลี่ยนจะทำไม แต่ก็อย่าลืมว่าซื้อบ้านโครงการ ถ้าจะเปลี่ยนเยอะ ก็สร้างเองดีกว่า


5️⃣ในระหว่างการก่อสร้าง ถ้าเป็นบ้านของเรา แน่นอนเรามีสิทธิ์ที่จะเข้าไปดูความคืบหน้าของบ้านเรา การเข้าไปดูบ่อยๆน่ะดี จะได้เห็นขั้นตอนการทำงาน เนื่องจากงานโครงการจะมีระบบการจ้างผู้รับเหมาที่แตกต่างกัน  ถ้าเป็นบริษัทรับสร้างบ้าน เขาจะมีผู้รับเหมาที่ใช้ก่อสร้างประจำและมีการพัฒนาทักษาะการทำงานใหม่ๆเสมอ


แต่สำหรับงานโครงการจะจ้างผู้รับเหมารายย่อย หรืออาจจะรายใหญ่  แต่ถ้าเจอรายย่อย แน่นอนว่าทักษะและฝีมือร้อยพ่อพันแม่แน่นอน เทคนิคที่ดีคือ ก่อนการซื้อบ้าน ลองเดินชมโครงการ ดูบ้านที่กำลังก่อสร้าง งานดีดูไม่ยาก งานไม่ดีดูง่าย และสอบถามกับทางโครงการว่าใช้ผู้รับเหมาแบบไหน ของทางโครงการโดยตรง หรือรายย่อยในพื้นที่  ( เรื่องยากที่จะถามแต่ถ้าถามได้ก็จะดีมาก)


6️⃣ หน้าต่าง น้ำเข้ามั้ย ? อันนี้นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะหน้าต่างมันก็เหมือนผนัง ถ้าเป็น UPVC เนี่ย ทางโครงการเขาจะเทสโดยการฉีดน้ำตอนที่บริษัทมาติดตั้งให้ เนื่องจากมันอยู่ในการรับประกัน ซึ่งต้องทำการเคลียร์ก่อนการส่งมอบ   ส่วนอลูมิเนียมล่ะ ?  อันนี้ก็คงแล้วแต่ดวงเลยโดยเฉพาะหน้าต่างบานเลื่อน เวลาฝนตกหนักๆ น้ำสาดเข้ารางเลื่อนแล้วเกิดการล้นราง ไหลเข้าบ้านแน่นอน ฉะนั้นโครงการที่ขายราคาไม่แพงจะนิยมใช้บานรางเลื่อนเนื่องจากมีราคาถูกทั้ง UPVC และอลูมิเนียม


และมันสำคัญตรงที่ ถ้าเป็นชั้นที่ 2 บ้านส่วนใหญ่จะใช้พื้นลามิเนต พอน้ำรั่ว พื้นพองงง

เทคนิค  ถ้าเป็นหน้าต่าง UPVC  แล้วตัวบ้านมีหน้าต่างบานเลื่อนเยอะๆ ให้สอบถามกับโครงการว่า ใช้ยี่ห้ออะไรและมีการเทสการรั่วของน้ำหรือยัง มีใบรับประกันไหม ถ้าน้ำรั่วจะทำอย่างไร  


7️⃣ การตรวจสอบวัสดุ และเสปคที่ใช้ในโครงการจะยากมาก ถ้าเราไม่มีใบเสปควัสดุ เพราะเราไม่สามารถเถียงอะไรได้เลย เขาอยากให้เรายี่ห้อไหนก็ได้ เพราะฉะนั้น เราควรสอบถามถึงเสปคโครงการว่าเราจะได้อะไร ยี่ห้ออะไร


8️⃣ หลังคาโรงรถที่เป็นคอนกรีต น้ำรั่ว ซึม  ห้องน้ำ น้ำรั่วซึมลงฝ้าเพดานชั้นล่าง  วิธีการตรวจง่ายๆคือ สอบถามเขาว่า ได้มีการทดลองขังน้ำอย่างน้อย 3 วันหรือไม่ มีการรั่วซึมไหม  ใช้อะไรทาเป็นกันซึมหลังคา  เพราะนี่คือปัญหาหลักๆของบ้าน 


9️⃣ มีการเดินท่อเพื่อฉีดน้ำยาปลวกใต้คานไว้ให้หรือไม่ และทางโครงการได้ฉีดน้ำยาให้ไว้หรือไม่  เพราะโครงการต้องฉีดให้ 1 รอบ และต้องเดินท่อไว้ให้เรา


1️⃣0️⃣ ท่อระบายน้ำรอบบ้านอ่ะ มันได้ Slope ไหม  ทำการเทสโดยเทน้ำดู แล้วเอาเศษกระดาษสีแจ๊ดๆใส่ลงไป  เปิดฝาท่อทุกท่อก่อนะ เทท่อสุดท้ายหลังบ้าน

แล้วเดินดู  ดูว่าเศษกระดาษสามารถไหลไปถึงบ่อสุดท้ายไหม  ปริมาณน้ำเหลือแค่ไหน   น้ำไม่ตีกลับมาใช่หรือไม่


1️⃣1️⃣ เทสน้ำ เทสไฟภายในตัวบ้าน  ทางโครงการมีบ่อกราวน์ให้ไหม  JUNCTION BOX ในส่วนสำคัญ เช่น  แอร์ และเครื่องทำน้ำอุ่นในห้องนอนมีในข้อตกลงไหม  ปัจจุบัน คนที่จะทำการรับเหมางานเดินสายไฟในบ้านได้ กฎหมายเขาเข้มงวดให้ต้องมีใบรับรองแล้วนะจ๊ะ  


1️⃣2️⃣ กระเบื้องแกรนิตโต้  เกรดไหน  บ้านจัดสรรราคาไม่แพงส่วนใหญ่จะเป็น  QC by COTTO นำเข้าจากจีน   เกรดเนี่ย มีหลายเกรดและบางเกรดสีลอกติดพื้น


1️⃣3️⃣ สมัยนี้ ควรจะมีแผ่นสะท้อนความร้อนใต้หลังคาแล้ว ถือเป็นมาตรฐานที่ควรให้กับทุกโครงการเลยก็ว่าได้ 


1️⃣4️⃣ การเดินท่อน้ำและไฟ ชั้นที่ 2 ของบ้าน ควรจะเดินท่อน้ำบนผนังหรือข้างผนัง โดยให้ท่อน้ำอยู่แนวล่าง ห่างจากท่อไฟประมาณ 30 เซนติเมตร ไม่ควรเดินบนพื้นคอนกรีต เนื่องจากท่อน้ำดีมีแรงดัน จะดันให้กระเบื้องหลุดนะแจ๊ะ และเวลาจะซ่อมที ก็รื้อทั้งแผงเพราะไม่รู้ว่าเดินท่อยังไง ทางที่ดีเดินเหนือฝ้าเพดานดีที่สุด


1️⃣5️⃣ Defect อื่นๆ สามารถดูได้ด้วยตา ก็จิ้มๆไป

ระหว่างตรวจบ้าน ก็ถ่ายรูปไว้ด้วย เพื่อดู  Before & After จะได้ไม่โดนย้อมมมม

EP138.พื้นลายไม้ทดแทนมีอะไรบ้าง?

 🪵พื้นลายไม้ทดแทนมีอะไรบ้าง?



1.พื้นลามิเนต (Laminate)

2.พื้นกระเบื้อง SPC (Stone Plastic Composite Flooring , SPC)

3.กระเบื้องยาง ( Luxury Vinyl Tile)

4.พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ (Engineering Wood)

5.พื้นไม้ประสาน (Rubber wood board)

6.พื้นกระเบื้องลายไม้


------------------------------------------------

1️⃣ พื้นลามิเนต


🔻หน้ากว้าง : 4",6",8"

🔻ยาว : 1.20m , 1.80m

🔻ความหนา : 8mm,12mm

🔻การติดตั้ง : แบบเข้าลิ้น , แบบ Click-lock

🔻ลายไม้เกิดจาก : กระดาษลายไม้เคลือบผิวหน้า จึงทำให้เลียนแบบลายไม้ได้หลากหลาย

🔻ข้อควรระวัง : 

- ต้องรองพื้นด้วยฟิล์มโฟมอย่างน้อย 2 มิลลิเมตร

- ไม่ถูกกับน้ำ เวลาถูพื้นห้ามให้เปียกมากเด็ดขาด

- ควรปรับระดับพื้นก่อนปูให้เรียบมากที่สุด


2️⃣ พื้นกระเบื้อง SPC (Stone Plastic Composite )


🔻ขนาด : มีหลากหลายรูปแบบ

🔻ความหนา : ตั้งแต่ 4 มิลลิเมตรขึ้นไป (เพราะผสมผงหินเพิ่มเข้ามา)

🔻การติดตั้ง : แบบเข้าลิ้น

🔻ความยืดหยุ่น : ยืดหยุ่นได้น้อยเพราะผสมผงหิน แข็งแรง รับน้ำหนักได้มาก มีความหนา

🔻ผลิตจาก : ผลิตมาจากแคลเซียมคาร์บอเนต (หินปูน) ผสมพลาสติก PVC 100%

🔻ลายไม้เกิดจาก : เกิดจากชั้นฟิล์มพิมพ์ลายเป็นชั้นที่แสดงให้เห็นลายต่าง ๆ 

🔻ข้อควรระวัง : 

- ติดตั้งโฟมรองพื้นก่อนปู

- พื้นขรุขระได้นิดหน่อยก่อนปู ห้ามเกิน 3 มิลลิเมตร


3️⃣ กระเบื้องยาง (Luxury Vinyl Tile)


🔻ขนาด : มีหลากหลายรูปแบบ

🔻ความหนา : ตั้งแต่ 2 -12 มิลลิเมตร

🔻การติดตั้ง : ทากาว และแบบเข้าลิ้น

🔻ความยืดหยุ่น : ยืดหยุ่นได้มาก บิด ดัดโค้งได้ เพราะส่วนผสมมีแต่ pvc จึงต้องปรับพื้นเรียบก่อนปูเสมอ

🔻ผลิตจาก : มีทั้งที่ผลิตจากยางธรรมชาติ และที่ผลิตจากโพลิเมอร์ PURE PVC 100%

🔻ลายไม้เกิดจาก :  เกิดจากชั้นฟิล์มพิมพ์ลายของกระเบื้องยาง ส่วนใหญ่ตามท้องตลาดจะเป็นลายไม้, ลายหิน

🔻ข้อควรระวัง

- ต้องปรับพื้นให้เรียบสนิท ไม่งั้นจะเกิดหลุม บ่อตามพื้น

- ต้องใช้กาวสำหรับปูกระเบื้องยางโดยเฉพาะและมีกลิ่นกาวควรระมีดระวังตนเป็นพิเศษ

- มีการยืดหดขยายตัวมากกว่า SPC


4️⃣ พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ (Engineering Wood)


🔻ขนาด : มีหลากหลายรูปแบบ

🔻ความหนา : ตั้งแต่ 12.5 มิลลิเมตรขึ้นไป ส่วนตัวผิวไม้ปิดหน้าหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร

🔻การติดตั้ง : ได้ 3 แบบ

- ปูลอย : รองโฟมก่อนปู ปูเข้าลิ้นติดกาวลิ้น 

- ปูไม้อัด : ปูไม้อัดยิงแม็กก่อนค่อยปูไม้เอ็นจิเนียร์

- ปูกับพื้นเลย : ใช้กาว PU ปู (เสียเงินมากสุด)

🔻ผลิตจาก : ไม้หลากหลายประเภทนำมาซ้อนชั้นกัน 3 ชั้น โดยชั้นบนเป็นประเภทไม้ที่ต้องการ 

🔻ข้อควรระวัง :

- ไม่ควรติดตั้งนอกบ้าน

- ระวังเรื่องน้ำและความชื้น


5️⃣ พื้นไม้ประสาน  (Rubber wood board)


🔻ทำจากไม้ไผ่ (Solid Bamboo)

🔻ขนาด : 1.83x1.30 เมตร

🔻ความหนา : 14 มิลลิเมตร

🔻การติดตั้ง : แบบเข้าลิ้น

🔻ความยืดหยุ่น : หน้าไม้แข็งแรง ทนทาน

🔻ผลิตจาก : ไม้ไผ่ต้นใหญ่ 5-6 ปี ปลูกหมุนเวียน


6️⃣ กระเบื้องลายไม้


ปัจจุบันกระแส Muji-Minimal มาแรง การนำเอาพื้นไม้ประเภทต่างๆมาปูนั้นอาจมีราคาสูง การใช้กระเบื้องลายไม้เป็นอีก 1 ทางเลือกที่ดีและคงทนมากมีหลากหลายรูปแบบและปัจจุบันก็เนียน กลมกลืน มองดูเหมือนไม้จริง


สาเหตุที่บ้านชั้น 2 มักปูพื้นไม้ เนื่องจากความคิดที่ว่า เมื่อเปิดแอร์นอน กระเบื้องจะเย็นทำให้เวลาเดินภายในห้องนอนนั้นรู้สึกเย็น อีกทั้งบ้านจัดสรรมักชูจุดขายชั้น 2 โดยการใช้พื้นลายไม้ ทำให้โครงการดูแพง ดึงดูดกว่าโครงการอื่น


----------------------------------------------

💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n

-----------------------------------------------