วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2565

EP41.เสาเอ็น-คานทับหลัง สำคัญอย่างไร

 🌈เสาเอ็น-คานทับหลัง สำคัญอย่างไร🪐



หลายครั้งที่เห็นคนลงรูปผนังกำแพงบ้านตอนยังไม่ฉาบแล้วทำให้รู้สึกว่า ฮั่นแน่!! ยังมีคนที่ไม่รู้ว่าเสาเอ็น-คานทับหลังนั้นสำคัญอย่างไร บางคนก็รู้ว่า เฮ้ย...มันต้องมี แต่รู้มาก น้อยขนาดไหนวันนี้เราจะมาเรียบเรียงให้ฟัง


🍓เสาเอ็น


- คือเสาโครงสร้างขนาดเล็ก ช่วยเพิ่มความแข็งแรงผนังในแนวดิ่ง

- ต้องมีขนาดความหนาเท่าผนัง ความกว้าง 10-15 เซนติเมตร

- ต้องมีเหล็กยืนของตัวเสาเอ็นเจาะเสียบลงในพื้นหรือคานอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ลอยๆไม่ได้นะจ๊ะ เหล็กยืน RB9 เหล็กปลอก(ลูกโซ่) RB6 ทุก 20 เซนติเมตร หากไม่ได้เตรียมเหล็กยึดไว้ก็เจาะยึดแล้วใช้อีพ็อกซี่สำหรับเสียบเหล็กอุด

- เสียบเหล็กหนวดกุ้งเสาเอ็นด้วยทุกๆ 30-40 เซนติเมตร ใช้ยึดการก่ออิฐไม่ให้พังลงมา ใช้เหล็ก RB6 เสียบยื่นออกมา 40 เซนติเมตร (รูปประกอบที่ 2) ถ้าเป็นอิฐมวลเบาจะเป็นตัว Metal Strap คล้ายๆเหล็กฉาก

- ทุกการเจาะช่องผนังต้องมีเสาเอ็นล้อมรอบเสมอ เช่น ประตู หน้าต่าง

- ทุกการหยุดของผนังที่ไม่จบกับเสา ต้องมีเสาเอ็นเสมอ

- ทุกมุมหักของผนังตัว L แผงยาวหรือผนังชนกัน 3 ทางเป็นตัว T หรือชนกัน 4 ทาง ต้องมีเสาเอ็นเป็นตัวเชื่อมเสมอ ส่วนพวกช่องชาฟท์ ปล่องผนังที่ก่อผนังแผงสั้นๆสามารถใช้การก่อสลับแทนได้


🪴ความสำคัญของเสาเอ็น


- สำหรับช่องเปิด เช่น ประตู หน้าต่าง ในการใช้งานนั้นเวลาเปิด ปิดจะมีแรงกระทำเสมอ หากไม่มีเสาเอ็นมาช่วยรับแรง แรงก็จะกระแทกไปโดนผนังก่อเต็มๆ ทำให้ผนังแตก

- สำหรับวงกบไม้ ไม้นั้นมีการยืด หดตัวอยู่เสมอ เสาเอ็นจะช่วยเป็นกรอบรัดไม่ให้เกิดผลกระทบกับผนัง

- สำหรับผนังที่ก่อไม่เต็มช่วงเสา การก่อเสาเอ็นจบปลาย เสริมความแข็งแกร่งเปรียบเสมือนโครงยึดผนังไปในตัว

- สำหรับผนังก่อเต็มแผง เสาเอ็นเพิ่มความแข็งแรงให้กับผนังและเป็นตัวช่วยยึดผนังไม่ให้ล้ม

- ในการก่อสร้างที่บ้านใกล้ถนนใหญ่ มีการสั่นสะเทือนตลอดเวลา เสาเอ็นและทับหลังทำหน้าที่ได้อย่างดี


🍋คานทับหลัง / คานเอ็น


- คือคานโครงสร้างขนาดเล็ก เป็นตัวช่วยซอยการกดทับของน้ำหนักผนังไม่ให้ซ้อนกันจนหนักเกินไป โดยจะถ่ายแรงเข้าเสาโครงสร้างด้านข้างหรือเสาเอ็น

- ต้องมีขนาดความหนาเท่าผนัง ความกว้าง 10-15 เซนติเมตร

- ต้องมีเหล็กของตัวคานทับหลังเจาะเสียบเข้าไปในเสาอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ลอยๆไม่ได้นะจ๊ะ เหล็กยืน RB9 เหล็กปลอก(ลูกโซ่) RB6 ทุก 20 เซนติเมตร

- ก่อนทำทับหลัง ต้องฝัง RB6 ขนาดยาว 20 เซนติเมตรลงในผนังที่ก่อไว้ 15 เซนติเมตร ทุกๆระยะ 60 เซนติเมตร แล้วค่อยทำทับหลัง ใช้เพื่อยึดคานทับหลังกับผนัง

- ทุกการเจาะช่องผนังต้องมีคานทับหลังรับน้ำหนักอยู่ด้านบนและล่างเสมอ หากเป็นทับหลังสำเร็จรูป ระยะยื่นของทับหลังต้องเกินจากแนวช่องเปิดข้างละ 20 เซนติเมตร  หากเป็นคานทำเองส่วนมากจะทำตลอดแนวความกว้างผนังจากเสานึงไปอีกเสานึง เป็นคานซอยผนังแนวนอนไปในตัว

- สำหรับการเปิดช่องโล่ง คานทับหลังช่วยไม่ให้อิฐตกลงมา


🪴ความสำคัญของคานทับหลัง


- สำหรับช่องเปิด เช่นประตู หน้าต่าง  คานทับหลังจะรับน้ำหนักอิฐที่ก่ออยู่เหนือวงกบ จำเป็นต้องมีในส่วนนี้มากๆ ไม่งั้นน้ำหนักจากอิฐจะกดทับวงกบเสียหาย

- การก่ออิฐโดยไม่มีทับหลัง จะทำให้น้ำหนักอิฐกดทับกันมากเกินไป

- สำหรับวงกบไม้ที่มีการยืดหด คานทับหลังช่วยให้ผนังไม่เสียหาย

- คานทับหลังช่วยให้ผนังมีตัวยึดในแนวนอน เสริมความแข็งแรง


📌ข้อควรระวัง

- เสาเอ็นและคานทับหลังก็เปรียบเสมือนโครงสร้าง ดังนั้นต้องใส่หินผสมลงไปด้วยเสมอ ส่วนอัตราส่วน ปูน 1 ส่วน ต่อทราย 3 ส่วน ต่อหิน 4 ส่วน (1:3:4) เอาจริงบางแหล่งก็บอกอีกแบบ เอาเป็นว่าต้องมีหินนะ (ช่างบางคนไม่ใส่ หรือใส่น้อยมากเพราะมันเทลำบาก ก็อย่าไปยอมอ่ะ ถ้าเห็นแต่เนื้อทรายก็ให้แก้นะ)


📌อิฐมอญ กับ อิฐมวลเบา ใช้หลักการเดียวกันมั้ย?

- หลักการเดียวกันแต่ถ้าเป็นการก่อผนังเต็มทั้งแผ่นจะต่างกัน


📌ก่อผนังเต็มทั้งแผงต้องก่อยังไง

- อิฐมอญ ทุกๆความกว้าง 2.5 เมตร ต้องมีเสาเอ็นซอย และทุกๆความสูง 1.5 เมตร ต้องมีคานทับหลังซอย

- อิฐมวลเบา อันนี้ต้องตามมาตรฐานเขาดูตามรูปแนบมา แบ่งเป็นผนังภายนอกและผนังภายในต้องมีเสาเอ็นและคานทับหลังซอย หรือแบ่งกึ่งกลางเป็น + เลยก็ได้ถ้าเศษไม่ลงตัว ง่ายๆ


📌ถ้าผนังที่เจาะช่องประตู หน้าต่างล่ะ

- มันก็จะมีเสาเอ็นและคานทับหลังซอยทุกช่องเจาะผนังอยู่แล้ว ไม่ต้องไปซอยซ้ำซ้อนมาก


📌สำหรับอิฐเซรามิก

- แชตไปถามทางเพจที่ขาย ได้รับคำตอบแนะนำมาว่า หากความกว้างxยาว เกิน 3x3 เมตร ต้องมีทั้งเสาเอ็นและคานทับหลัง ส่วนช่องเปิด มีเสาเอ็นและคานทับหลังรัดรอบเหมือนอิฐประเภทต่างๆค่ะ


📌ถ้าช่างบอกไม่จำเป็นล่ะ

- บอกช่างว่า นี่บ้านโพมมม!! ตามใจผมหน่อย


📌ถ้าในรายการประกอบแบบไม่มีล่ะ

- พลาดแล้ว ปกติเป็นมาตรฐานงานก่อสร้าง ต้องมีเขียนระบุชัดเจนมากๆในแบบเล่มก่อสร้างหมวดงานสถาปัตยกรรมเลย เชคด้วยใครมีแบบในมือ


📌ถ้าใน BOQ ไม่มีการคิดราคาเสาเอ็นกับคานทับหลังล่ะ

- ไปดูในแบบแปลนบ้าน ปกติสถาปนิกจะใส่ไว้เสมอ เป็นหลักการเขียนแบบ

- ไปดูในรายการประกอบแบบ สถาปนิกระบุไว้หรือไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้

- ถ้าไม่มีระบุในรายการประกอบแบบ ความชัดเจนก็น้อยลง BOQ ก็ไม่ได้ถอดมา ก็จ่ายเพิ่ม.....ยึดตาม BOQ พลาดแล้ว....


📌ปกติใน BOQ ต้องมีระบุการถอดราคาของเสาเอ็น คานทับหลัง เพราะเรียกได้ว่าทุกผนังต้องมี ต้องทำถี่มาก ถือเป็นปริมาณที่เยอะและเป็นเรื่องถกเถียงระหว่างผู้รับเหมากับเจ้าของบ้าน  อย่าคิดว่าไม่มี ไม่ใส่ บ้านอยู่กับเราอีกนาน ทำให้บ้านแข็งแรงและปลอดภัยกันเถอะ


----------------------------------------------

💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n

-----------------------------------------------


มาตรฐานงานอิฐมวลเบาอ่านได้ที่นี่ค่ะ ดีเทลเยอะ มีทับหลังสำเร็จรูปด้วย https://qcon.co.th/th/what-is-alc-block-/q-con-alc-block-manual


ที่มารูปภาพ : https://www.cpacacademy.com/download/cpacacademy_com/E-CEMENTAPP%20U06.pdf


https://itdang2009.com/เสาเอ็น-คานทับหลังนั้น-ส/


https://www.thaidrawing.com/content/2969/เสาเอ็นทับหลัง-ทับข้าง-เหล็กหนวดกุ้ง-คืออะไร-

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น