วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2565

EP117. 🚾 กลิ่นในบ้านมาจากไหน? 🚽ชักโครกเหม็น ห้องน้ำเหม็น

 🚾 กลิ่นในบ้านมาจากไหน? 🚽ชักโครกเหม็น ห้องน้ำเหม็น

A


หลายท่านประสบปัญหา "กลิ่นในบ้าน" กวนใจลอยมาตามลม ไม่รู้ว่ามันมาจากไหนบ้าง วันนี้เรารวบรวมสาเหตุที่กลิ่นมักจะเกิดในบ้านมาให้แล้วค่ะ


1.จากโถส้วม 

2.จากระบบน้ำทิ้งในห้องน้ำ

3.จากอ่างล้างจาน

4.จากถังบำบัด

5.จากบ่อดักกลิ่น


🔻กลิ่นจากโถส้วม


- การไม่ติดตั้งปะเก็นกันกลิ่น ทำให้โถและท่อแนบกันไม่สนิท

- การไม่ติดตั้งท่อระบายอากาศ ทำให้เวลากดน้ำนั้น น้ำที่ไหลลงท่อจากแรงส่งของโถส้วมมีความรวดเร็วแต่กลับไหลได้ไม่ดีเพราะไม่มีท่อระบายอากาศ ทำให้อากาศบางส่วนหาทางออกโดยไปดันน้ำจากโถส้วมอื่นแทน บุ้ง บุ้ง แถมมาพร้อมกลิ่นที่แทรกตามอากาศในท่อ

- ท่ออากาศจากท่อโถส้วม ติดในระดับที่เตี้ยไปทำให้ลมพัดพากลิ่นเข้าบ้านได้


🔻กลิ่นจากระบบท่อน้ำทิ้งในห้องน้ำ


- ท่อน้ำทิ้งในห้องน้ำประกอบด้วย น้ำจากอ่างล้างหน้า น้ำจาก Floor drain น้ำจากอ่างอาบน้ำ

- ในส่วนชั้น 2 ขึ้นไป สำหรับท่อน้ำทิ้งที่กล่าวมาข้างบน ควรติดตั้ง U-Trap รุ่นที่มีจุกหมุนระบายเศษตะกอนออกได้ในท่องานระบบน้ำทิ้งด้านใต้ เพื่อสามารถเปิดฝ้าเพดานและเอาเศษต่างๆที่อาจสะสมจนเน่าเสียและส่งกลิ่นย้อนกลับขึ้นไปตามรูอ่างได้ และแน่นอนช่อง Service ในห้องน้ำนั้นสำคัญและต้องเปิดตำแหน่งที่ตรงกับส่วนนี้ด้วย

- U-trap ทำหน้าที่ในการกันกลิ่นจากน้ำเสียจากบ่อพักน้ำย้อนเข้าไปตามรูท่อต่างๆ โดยใช้การขังน้ำไว้ตรงตัว U ทำให้กลิ่นผ่านไปไม่ได้

- ในส่วนชั้น 1 ที่เข้าไป Service ด้านใต้ไม่ได้เลย จะใช้วิธีติดตั้ง Clean out (CO) ที่พื้นเพื่อใช้เปิดทะลวงเศษออก แทนการใช้ U-trap เนื่องจากไม่สามารถมุดเข้าไปถอดจุกตะกอนออกได้

- อ่างล้างหน้า มักมีการกันกลิ่นโดย T-trap หรือ U-trap ใต้อ่าง หลักการเดียวกันคือน้ำที่ขังใน TหรือU คือตัวกันกลิ่นย้อนแต่ต้องหมั่นถอดออกมาล้างเพื่อกำจัดเศษต่างๆที่อาจทำให้เกิดกลิ่น

- Floor Drain (FD) ใช้การกันกลิ่นโดยใช้รุ่นที่มีถ้วยดักกลิ่น โดยตัวถ้วยหงายนี้จะมีน้ำจากการอาบน้ำขังอยู่ในถ้วยส่วนตะแกรงด้านบนออกแบบให้มีถ้วยคว่ำเมื่อประกบกันจะเกิดการล็อคกลิ่นย้อนจากการขังน้ำไปในตัว


🔻กลิ่นจากบ่อดักไขมัน


- บ่อดักไขมันสำเร็จรูป นั้นมี 2 ส่วนคือ 1.ส่วนกรองเศษขยะ 2.ส่วนดักไขมัน ซึ่งถ้าไม่ใช้ตัวสำเร็จรูปก็ต้องแยก 2 ส่วนนี้ออกจากกัน

- ท่อน้ำทิ้งจากอ่างล้างจานนั้นจะถูกต่อไปยังบ่อดักไขมัน ซึ่งแน่นอนมีทั้งเศษอาหาร เศษไขมัน มีกลิ่นเน่าเหม็น

- หมั่นตักเศษอาหารและช้อนไขมันออก ไม่งั้นไขมันจะหนา พอง ขัดขวางการระบายน้ำออก

- การป้องกันกลิ่นทำได้โดยใช้ U-trap ชนิดมีตัวปล่อยตะกอน (ตัวเดียวกับท่อน้ำทิ้งจากห้องน้ำชั้น 2 ขึ้นไป) ต่อเข้าที่ใต้ซิ้งค์ น้ำในท่อ U จะกันกลิ่นย้อนและหมั่นทำความสะอาดจุดปล่อยตะกอนเพื่อนำเศษอาหารที่เหม็นเน่าออก  ไม่งั้นส่วนนี้แหละที่จะย้อนขึ้นไปแทน


🔻กลิ่นจากถังบำบัด


- แน่นอนว่าถังบำบัดคือรับอึมาแปลงสภาพมันก็ต้องมีกลิ่นแน่นอน

- การใส่ท่ออากาศนั้นเพื่อทำให้แรงดันนั้นปกติ เนื่องจากในถังมีการรับน้ำและสิ่งปฏิกูลตลอดเวลา เมื่อมีของเข้า ก็ต้องมีของออกเพื่อรักษาสมดุลของแรงดัน

- อากาศคือตัวที่จุลินทรีย์ใช้ในการย่อยสลายของเสีย บางรุ่นไม่ต้องใช้อากาศนะแล้วแต่เผ่าพันธุ์จุลินทรีย์

- ท่ออากาศจากถังบำบัดก็ควรต่อขึ้นสูงๆ เพื่อป้องกันการอุดตันจากสิ่งต่างๆ

- ท่ออากาศที่ต่อจากท่อรวมหลักในบ้านก็ควรต่อขึ้นไปให้สูงที่สุดแล้วต่อออกนอกบ้าน และควรมีการป้องกันแมลงเข้าด้วย


🔻กลิ่นจากบ่อดักกลิ่น


- ชื่อบ่อดักกลิ่นแต่ทำไมยังมีกลิ่น ก็เพราะไม่ได้ใส่ข้องอเพื่อให้น้ำขังปลายท่อน้ำทิ้ง กลิ่นจากในบ่อก็ลอดเข้ามาตามท่อ ดังนั้นบ้านใครมีบ่อดักกลิ่นก็สำรวจปลายท่อด้วยนะจ๊ะ


💟 สรุป : อุปกรณ์ช่วยดักกลิ่น


1.U-Trap , P-Trap : ใช้การขังน้ำในท่อเพื่อกันกลิ่น ใช้ได้กับอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ ท่อน้ำทิ้งที่พื้นเหนือฝ้าเพดานตั้งแต่ชั้น 2 เป็นต้นไป ส่วนอ่างล้างจานได้ทุกชั้นเพราะติดใต้ Sink


2.Clean out (CO) : ใช้กับท่อน้ำทิ้งและท่อโสโครกเพื่อกำจัดเศษต่างๆในท่อ ถ้าเป็นชั้น 2 ขึ้นไปก็เดินท่อปกติเหนือฝ้าเพดานพร้อมช่อง Service แต่ถ้าชั้น 1 ก็ให้หัว CO โผล่มาที่พื้นแทน


3.ตะแกรงท่อระบายน้ำแบบมีถ้วยดักกลิ่น : เหมาะสำหรับใช้พื้นห้องน้ำชั้น 1 (ชั้นบนๆใช้ U-Trap) หรือในจุดที่มีการซักล้างบ่อยๆของชั้น 1


4.Ventilation Duct (V) : ท่ออากาศ ไม่ใช่ตัวดักกลิ่น ท่ออากาศช่วยให้น้ำทิ้งในท่อนั้นไหลได้สะดวกขึ้น รักษาความดันภายในท่อเอาไว้ ถ้าไม่มีท่ออากาศในท่ออาจจะเกิดสูญญากาศและเกิดการดูดน้ำออกจากอุปกรณ์ประเภทดักกลิ่นต่างๆออกไปทำให้ดักกลิ่นไม่ได้  ขนาดของท่ออากาศควรมีขนาดประมาณ 1/2 ของขนาดท่อเมนที่ใช้ต่อ เช่น ท่อส้วม 4" ท่ออากาศ 2" เป็นต้น


🚾 การต่อท่อต่างๆ


1.ถังบำบัด : ควรต่อเฉพาะ "ท่อจากชักโครกและโถปัสสาวะชาย " เท่านั้นเพราะในถังนี้จะมีจุลินทรีย์ในการย่อยสลาย การรับเอาน้ำจากที่อื่นจะมีน้ำยาต่างๆ ไขมัน รวมไปถึง "โซดาไฟ" ซึ่งเป็นตัวฆ่าจุลินทรีย์ในบ่อจะทำให้จุลินทรีย์ตายแถมจะทำให้ส้วมเต็มไว


2.ถังดักไขมัน : รับน้ำจากอ่างล้างจานแล้วน้ำจากส่วนนี้จะต่อลงท่อระบายน้ำภายในบ้านอีกที


3.บ่อดักกลิ่น : รับน้ำจากอ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้า Floor drain โดยตรง


4.บ่อพักน้ำ : รับน้ำฝนโดยรอบบ้านและรับท่อน้ำจากอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ  Floor drain โดยตรง

**แนะนำให้ท่อน้ำทิ้งจากอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ Floor drain ต่อเข้าระบบบำบัดขนาดเล็ก (คนละตัวกับถังบำบัดขรี้) ก่อนเข้าสู่บ่อพักน้ำบริเวณรอบบ้าน เนื่องจากน้ำพวกนี้เกิดจากการชำระล้างซึ่งจะมีกลิ่น สารเคมี อีกทั้งไขมันจากผิวมนุษย์ จึงควรบำบัดก่อนจะไปรวมกับน้ำฝนและต่อลงสู่สาธารณะ ส่วนหน้าตาบ่อก็ประยุกต์เอาเพื่อลดกลิ่น ดักสารเคมี ไขมัน ทำให้น้ำสะอาดขึ้นจะดีกว่า แต่ส่วนใหญ่ก็ต่อลงบ่อพักน้ำรอบบ้านเลย


📌ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป (ถังแซท) คืออะไร?


คือถังที่ประกอบไปด้วย 2 ส่วน

* บ่อเกรอะ (septic tank) เป็นบ่อตกตะกอน และ ลดมวลตะกอนจม (โดยจุลินทรีย์แบบไม่เติมอากาศ)

* บ่อกรองไร้อากาศ (anaerobic filter) เป็นตัวเสริม โดยใช้จุลินทรีย์ที่เกาะอยู่ที่แผ่น/ลูกมีเดีย ช่วยย่อยตะกอนจิ๋ว ๆ ที่แขวนลอยอยู่ในส่วนน้ำใส ช่วยลดความโสโครกของน้ำเสีย (ลดสารอาหาร) อีกขั้น


ปัจจุบันคนมักเอาท่อน้ำทิ้งและท่อโสโครกมาต่อเข้าถังบำบัดทั้งหมด เนื่องจากการโฆษณาว่า "ถังบำบัดสำเร็จรูป" ซึ่งในถังจะมีส่วนแยกตะกอนหนักกับน้ำ โดยน้ำจะถูกส่งผ่านไปยังช่องบำบัดในถัง คราวนี้ถ้าในถังมีน้ำมากหรือจำนวนน้ำที่ไหลผ่านเข้ามาตลอด ต้องถามว่า "จุลินทรีย์จะเอาเวลาไหนไปย่อยไหนจะย่อยของเดิมอีก" อีกทั้งคนคิดว่ามีถังก็จบแต่ความจริงคือ ต้องสูบตะกอนในถังออกไปทิ้งตามระยะเวลาในคู่มือกำหนดเพื่อไม่ให้ถังเต็ม เนื่องจากจุลินทรีย์ไม่สามารถย่อยตะกอนได้ 100% มันจะสะสมจนถังเต็ม  ถ้าน้ำมันเยอะ ถังมันเต็ม มันก็จะไม่มีการบำบัดแล้ว ดังนั้นน้ำที่ไหลออกมาก็คือ "น้ำขรี้" ดีดีนั่นเอง


----------------------------------------------

💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n

-----------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น