วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2565

EP45. 🌈ปูน ผนัง การก่อ การฉาบและการป้องกันรอยร้าว

 🌈ปูน ผนัง การก่อ การฉาบและการป้องกันรอยร้าว



    หลังจากที่ได้เขียนเรื่องเสาเอ็น-คานทับหลังและเรื่องอิฐไป สิ่งหนึ่งที่ได้กลับมาคือความรู้เกี่ยวกับปูน ซึ่งมองว่าถ้าหากคนจะสร้างบ้าน เข้าใจถึงสาเหตุและเหตุผลแล้ว ความรู้ตรงนี้จะช่วยเจ้าของบ้านในหลายๆเรื่องได้มากขึ้น จึงขอรวบรวมหลักการเกี่ยวกับปูนในเรื่องการก่อ-ฉาบ ผนังมาให้อ่านกันค่ะ


🍓การก่อผนัง


- เวลาก่อผนังอิญมอฐ ความหนาของชั้นปูนควรหนาไม่เกิน 0.5-1.5 เซนติเมตร เนื่องจากป้องกันการทรุดตัวของชั้นปูนที่เริ่มแห้ง ส่วนหนึ่งมาจากการแช่น้ำไม่ได้ที่ของอิฐมอญ ทำให้มันไปดูดน้ำจากปูนก่อ


- ขึ้นชื่อว่าปูนก็ต้องใช้น้ำในการทำปฏิกริยาให้ตัวมันแข็งแรง ถ้าก่อแบบหนามาก เกิน 1.5 เซนขึ้นไป เวลาฉาบผนัง ทั้งอิฐแดงทั้งปูนก่อก็ช่วยกันรุมดูดน้ำจากปูนฉาบ


- ควรทำเสาเอ็น-คานทับหลัง เพื่อยึดผนัง ลดแรงที่จะมาทำกับผนัง และช่วยลดการทรุดตัวของผนัง ไม่งั้นจะได้เห็นผนังฉีกตรงมุมประตูหน้าต่างเป็นรอย 45 องศาแน่นอน


- ไม่ควรก่อผนังวันเดียวเต็มแผง เพราะปูนก่อจะระเหยน้ำและมีโอกาสทรุด จึงควรแบ่งทำทีละครึ่ง ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 วัน แล้วค่อยทำคานทับหลัง


- ไม่ควรก่อผนังจนชิดท้องคานเลย ควรเว้นไว้ 10 เซนติเมตร เนื่องจากผนังจะมีการทรุดตัวจากปูนก่อ จึงควรทิ้งผนังไว้ให้แห้งก่อนแล้วค่อยนำอิฐมาเสียบลักษณะทำมุม 45 องศาและอุดด้วยปูนก่อ เรียกวิธีนี้ว่า "ยัดหัวปลาสร้อย" อีกทั้งการทำวิธีนี้ยังช่วยให้ในอนาคต เมื่อท้องคานหรือท้องพื้นแอ่นตัวลงมากดทับผนังก็จะช่วยไม่ให้อิฐแตกได้


- การรดน้ำอิฐมอญก่อนฉาบ ควรรดก่อน 1 คืน และรดอีกรอบตอนเช้าก่อนฉาบ ถือเป็นการทำความสะอาดไปในตัว ช่วยให้การฉาบยึดติดอีกด้วย


- การรดน้ำอิฐมวลเบา ถึงอิฐมวลเบาจะมีอัตราการดูดซึมสูงแต่ก็ค่อนข้างช้า ดังนั้นการรดน้ำก่อนฉาบอาจจะไม่ช่วยอะไรได้มาก จึงจำเป็นต้องใช้ปูนฉาบสำหรับอิฐมวลเบาซึ่งลดการสูญเสียน้ำในตัวปูนฉาบโดยตรง ช่วยลดการแตกลายงา


🍓การฉาบผนัง


- ที่เขามักจะมุงหลังคาก่อนทำการก่อผนัง ฉาบผนังเพราะ ป้องกันแสงแดดที่ร้อนระอุที่จะทำให้ตอนฉาบผนังสูญเสียน้ำไวกว่าปกติ ทำให้ผนังแตกลายงา


- ควรรอให้ผนังก่อเซตตัว 1 สัปดาห์ค่อยฉาบเพื่อให้ผนังหยุดการทรุดตัว


- สำหรับอิฐมอญไม่ควรฉาบผนังหนาเกิน 1.5-2.0 เซนติเมตร เพราะจะทำให้อิฐรับน้ำหนักปูนฉาบมากขึ้น อีกทั้งทำให้เนื้อปูนแห้งช้า  


- สำหรับอิฐมอญ ควรแบ่งการฉาบปูนเป็น 2 ชั้น โดยชั้นแรกใช้ปูนเค็ม เนื่องจากเป็นการให้ปูนเค็มได้ยึดติดกับผนังก่อซึ่งปูนเค็มมีคุณสมบัติยึดเกาะได้ดีช่วยลดการแตกลายงาของผนังได้มาก และควรควบคุมความหนาไม่ให้เกิน 1.5 เซนติเมตร ปูนฉาบชั้นที่ 2 ควรฉาบด้วยปูนจืด ลูบไล้ให้ทั่วผนังและควบคุมความหนาไม่ให้เกิน 2 เซนติเมตร


- สำหรับอิฐมวลเบา ไม่ควรฉาบผนังหนาเกิน 0.5-1.0 เซนติเมตร โดยแบ่งการฉาบเป็น 2 ครั้ง หากต้องการความหนามากกว่า 2 เซนติเมตร ต้องติดลวดกรงไก่ทุกครั้ง

- การฉาบผนังที่หนามากทำให้ความร้อนสะสมที่ผนังมากขึ้นด้วย


- ในส่วนของรอยต่อระหว่าง 2 วัสดุ เช่น อิฐกับเสาเอ็น  อิฐกับกรีดผนังฝังท่อ  ควรมีการกรุลวดกรงไก่เพื่อให้ปูนฉาบยึดเกาะได้ดีขึ้น


- ในส่วนของมุมช่องเปิด เป็นส่วนที่ต้องกรุลวดกรงไก่ เนื่องจากปูนฉาบมีจุดอ่อนตรงรอยหักมุม ความสามารถในการยึดเกาะลดลง


- การบ่มผนัง ทำโดยพ่นน้ำเป็นละอองไปบนผิวปูนฉาบที่เริ่มแข็งตัวเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 7 วัน ป้องกันผนังแตกลายงา


- ในวันที่แดดร้อนมากต้องบ่มผนังบ่อยขึ้นเพื่อบดการสูญเสียน้ำ


- การฉาบในส่วนที่เป็นคอนกรีต ควรสกัดผิวหน้าให้ขรุขระเพื่อเพิ่มการยึดเกาะ


🍋หากจะสรุปง่ายๆก็คือ ส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับปูน มีส่วนผสมเป็นปูน ส่วนนั้นจะต้องมีน้ำเข้ามาเกี่ยวเสมอ และต้องทำการบ่มน้ำ เพื่อให้คอนกรีตเซตตัวตามมาตรฐาน ดังนั้นจึงควรใส่ใจเรื่อง คอนกรีต Vs น้ำ เสมอ🍋


📌ปูนเค็ม คือ การผสมปูนซีเมนต์กับทรายด้วยอัตราส่วนปูนซีเมนต์ 1 ส่วน ต่อทราย 2.5 – 3 ส่วน โดยอัตราส่วนของปูนซีเมนต์ที่ค่อนข้างมาก ปูนจึงสามารถยึดเกาะกับผนังได้ดี


📌ปูนจืด คือ การผสมปูนซีเมนต์กับทรายด้วยอัตราส่วนปูนซีเมนต์ 1 ส่วน ต่อทราย 3-4 ส่วน ในอัตราส่วนนี้เนื้อปูนจะหดตัวน้อยและแต่งผิวง่าย จึงใช้สำหรับการฉาบตกแต่งผิวหน้าผนังทั่วไป


ที่มาอ้างอิง 


เรื่องปูน : https://www.cpacacademy.com/download/cpacacademy_com/E-CEMENTAPP%20U07.pdf


อิฐมอญ : https://online.anyflip.com/kqbtj/faym/mobile/index.html#p=1


อิฐมวลเบา : https://qcon.co.th/th/what-is-alc-block-

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น