วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2565

EP48.มาตรฐานเหล็กสร้างบ้าน

 🍓เหล็กสร้างบ้านเรา เขาเอาแบบไหนมาให้?🍓



เขียนเรื่องเหล็กที่ใช้สร้างบ้านไปแล้ว จะไม่เขียนเรื่องวิธีการตรวจสอบคุณภาพเหล็กไปได้อย่างไร เรื่องพวกนี้สถาปนิกรู้ วิศวกรรู้ คนคุมงานรู้ ผู้รับเหมารู้ แต่คนที่ไม่รู้ก็น่าจะเป็นเจ้าของบ้าน....ไม่ใช่เหล็กที่ไหนก็มาสร้างได้นะ แล้วข่าวโรงงานเถื่อนมีเยอะด้วย ค้นหาในเน็ตได้เลย ดังนั้นเราควรรู้จักเหล็กปลอมกับเหล็กมาตรฐาน


"เหล็กเบา" 


เหล็กเถื่อน เหล็กเกรดบี คือชื่อเรียกของเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน ผลิตในโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อนำเหล็กไปตัดท่อน 1 เมตร แล้วนำไปชั่งจะพบว่าน้ำหนักน้อยกว่าปกติ เป็นการนำเศษเหล็กมารีดเพื่อนำมาใช้ใหม่อีกครั้ง เมื่อกระบวนการและวิธีไม่ได้มาตรฐานจึงทำให้คุณภาพเหล็กไม่ได้ เวลาไปก่อสร้างก็ไม่ได้มาตรฐานตามที่วิศวกรคำนวณ 


"เหล็กเต็ม"


คือชื่อเรียกของเหล็กได้มาตรฐาน หรือเหล็กโรงใหญ่ เหล็กเส้นหรือเหล็กรูปพรรณที่มีคุณภาพสูง มีกรรมวิธีการผลิตที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้น้ำหนักและขนาดตามมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานอุตสหกรรม (สมอ.) กำหนดไว้ 


🍓วิธีตรวจสอบเบื้องต้น🍓


☘️1.ป้ายแสดงสินค้า


หากเหล็กมาส่งเป็นมัด ให้มองหาป้ายสินค้าที่ติดอยู่กับมัดเหล็กเพื่อดูว่าเหล็กที่เราได้มานั้น มี ชื่อผู้ผลิต ชนิด ขนาด ความยาว รอบการผลิต ที่ไหนอย่างไร และที่สำคัญคือ "เครื่องหมาย มอก." เพื่อความสบายใจควรเลือกจากผู้ผลิตที่เรารู้จักหรือหาข้อมูลได้


🍀2.ตัวนูนบนเนื้อเหล็ก


ปัจจุบันสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดให้เหล็กเส้นกลม มอก.20-2559 และเหล็กข้ออ้อย มอก. 24-2559 ต้องตีตราปั้มดังนี้


- ชื่อผู้ทำ/โรงงานที่ทำ/เครื่องหมายการค้า เช่น TATA /MILL เพื่อดูว่าโรงงานไหนเป็นคนผลิต

- ผู้ได้รับอนุญาต เผื่อว่านำเข้ามาจัดจำหน่าย

- ประเภท/ขนาด เช่น DB16,DB12/RB6,RB9

- ชั้นคุณภาพและกระบวนการผลิต SD40 / SR24 บ้านพักอาศัยปกติใช้อยู่ที่ SD30,SD40(เหล็กข้ออ้อย) และ SR24(เหล็กเส้นกลม)

- ชนิดของการหลอมเหล็ก ซึ่งประเทศไทยผลิตได้เพียง 2 วิธีคือ IF และ EF

- EF บนเหล็ก หมายถึง กระบวนการผลิตเหล็กให้มีความบริสุทธิ์ สะอาด และเติมสารต่างๆลงไป ทำให้เหล็กมีความแข็งแรง

- IF คือ เหล็กปกติที่กระบวนการผลิตไม่สามารถทำให้เหล็กสะอาด บริสุทธิ์ได้ มีสิ่งเจือปน

- T บนเนื้อเหล็ก คือ กระบวนการผลิตที่ทำให้เหล็กเย็นลงอย่างรวดเร็ว มักระบุใช้ในงานถนนภาครัฐ เนื่องจากมีความเหนียว

- ส่วนเหล็กที่ไม่มี T จะราคาแพงกว่าเพราะเติมสารพิเศษ ทำให้เหนียว ทนต่อการดัดโค้งได้ดี


🌿3.ผิวเหล็ก


เหล็กข้ออ้อย

- มีบั้ง นูนสูงสม่ำเสมอตลอดทั้งเส้น เพื่อให้เหล็กยึกเกาะกับคอนกรีตได้ดี ไม่มีรอยปริแตก


เหล็กเส้นกลม

- ผิวเรียบ เกลี้ยง ไม่มีรอยปริแตก


🪴4.การดัดโค้ง


สามารถดัดโค้งได้โดยไม่ปริ แตก หัก เพราะถ้าหักนี่ก็ดัดทำโครงสร้างไม่ได้ละนะ


🌱5.สัญลักษณ์ผู้ผลิตที่คุ้นเคยบนเหล็ก


เนื่องจากเรื่องนี้ปลอมกันไม่ได้ ผิดกฎหมาย มองหาแบรนด์แล้วเซิจหาข้อมูลเลยจ้า


🍃6.ตรวจสอบขนาดเหล็กด้วยตาเปล่า


หากเหล็กอยู่ในกอง ให้สังเกตุดูขนาดเหล็กว่าสม่ำเสมอเท่ากันทุกเส้นหรือไม่ โดยต้องเท่ากันตลอดทั้งเส้น หากมีเหล็กที่ตีตราว่าเป็นประเภทเดียวกันแต่ขนาดต่างกัน ให้สันนิษฐานว่าไม่ได้คุณภาพ และลองมองหาผู้ผลิต ข้อมูลอื่นๆบนตราปั้มเหล็ก


🍀7.ชั่งน้ำหนัก


ตัดเหล็กให้ได้ความยาว 1 เมตรแล้วนำไปชั่งเพื่อดูน้ำหนัก ซึ่งเหล็กข้ออ้อยกับเหล็กเส้นกลมมีมาตรฐานของมันดังนี้

เหล็กเส้นกลม (Round Bar) ขนาดน้ำหนักเหล็ก 1 เมตร 


* ขนาด 6 มม. : 0.222 กก.

* ขนาด 9 มม. : 0.499 กก.

* ขนาด 12 มม. : 0.888 กก.

เหล็กเส้นข้ออ้อย (Deform Bar)ขนาดน้ำหนักเหล็ก 1 เมตร 


* ขนาด 10 มม. : 0.616 กก.

* ขนาด 12 มม. : 0.888 กก.

* ขนาด 16 มม. : 1.578 กก.


ค่าความคลาดเคลื่อนน้ำหนักเหล็กเส้นที่ได้มาตรฐาน

- DB10-16 : ควรมีน้ำหนักบวกลบไม่เกิน 6%/เส้น

- RB9-34 : ควรมีน้ำหนักบวกลบไม่เกิน 10%/เส้น

- RB6 : ควรมีน้ำหนักบวกลบไม่เกิน 6%/เส้น


เรื่องโครงสร้างคือสิ่งสำคัญ เพราะเวลาบ้านพังก็พังที่โครงสร้าง พังลงมาก็อันตรายถึงชีวิต ส่วนอื่นๆปลีกย่อยพังยังปรับแก้ได้ ความอันตรายมันต่างกัน หากเราใส่ใจบ้านของเราส่วนหนึ่ง วันข้างหน้าเราจะได้อยู่บ้านอย่างมีความสุขค่ะ


รูปภาพประกอบ : millconsteel , TATA Tiscon , Lakklar

ที่มาบางส่วน : https://www.yotathai.com/yotanews/mt-103-2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น