🍓แบบที่ใช้สร้างบ้านมีกี่แบบ?🍓
วันก่อนนี้ได้ไปเจอบทความนึงเขาเขียนดี มีลูกค้าถามเขาทำไม "ค่าแบบแพงจัง" และเขาอธิบายว่าเพราะแบบผมไม่ได้จบแค่แบบก่อสร้าง (Construction Drawing) แต่ถ้าให้ผมออกแบบ ผมดูแลยันจบไปถึงแบบหลังก่อสร้าง (As-Built Drawing) วันนี้เราเลยจะมาอธิบายให้ฟังว่า แบบที่สถาปนิกสามารถทำให้ได้สำหรับการสร้างบ้าน 1 หลังมีอะไรบ้าง (หลังเล็กๆ)
1. Preliminary Drawing (แบบร่างเบื้องต้น)
2. Construction Drawing (แบบก่อสร้าง)
3. Shop Drawing (แบบแก้ไข หรือขยายรายละเอียด)
4. As-Built Drawing (แบบแก้ไขตามหน้างานจริงทั้งหมดหลังก่อสร้างเสร็จ)
โดยปกติผู้ว่าจ้างมักจะรับรู้แค่เพียงว่าถ้าเราจ้างออกแบบเราจะได้แบบเพียงแค่แบบก่อสร้างหรือแบบขออนุญาต (ใช้ตัวเดียวกันเลยถ้าหลังเล็ก) โดยที่ผู้ว่าจ้างไม่รู้ว่าความเป็นจริงแล้วสถาปนิกหลายๆท่านนั้นทำงานสานต่อจนจบโครงการเป็นเรื่องปกติ
📌1.Preliminary Drawing (แบบร่างเบื้องต้น)
แบบร่างเบื้องต้นจะเกิดในช่วงการออกแบบขั้นต้น 3 ช่วง คือ ช่วงนำเสนอ ,ช่วงปรับแบบ ,ช่วง Fix แบบ เมื่อผู้ว่าจ้างพอใจกับแบบแล้ว สถาปนิกจะทำการรวบรวมแบบร่างขั้นสุดท้าย ส่งมอบให้เจ้าของบ้านไว้ โดยแบบที่ได้ไม่สามารถเอาไปก่อสร้างได้ ใช้เพียงเข้าใจร่วมกันว่าแบบบ้านที่เราตกลงกันไว้คือแบบนี้นะ
📌2.Construction Drawing (แบบก่อสร้าง)
สำหรับงานบ้านหลังเล็กๆ รายละเอียดไม่เยอะก็สามารถใช้แบบก่อสร้างยื่นขออนุญาตได้ ยกเว้นแบบบ้านขนาดใหญ่ 300 ตรม.ขึ้น มี Detail ในการเขียนแบบเยอะ ก็สามารถแยกแต่ส่วนที่ใช้ในการขออนุญาตออกมาได้
แบบชนิดนี้มีเพียงแบบเดียวก็ใช้ก่อสร้างได้ปกติ (หากละเอียดครบทุกแบบ) สามารถส่งให้ผู้รับเหมาตีราคา ส่งถอด BOQ แยกจากสถาปนิกได้
💕แบบก่อสร้างงานบ้านเล่มเต็มจะประกอบไปด้วย
1.แบบสถาปัตยกรรม by สถาปนิก
2.แบบโครงสร้าง by โยธา
3.แบบสุขาภิบาล by โยธาหรือสิ่งแวดล้อม
4.แบบไฟฟ้า by วิศวกรไฟฟ้า
5.แบบเครื่องปรับอากาศ by วิศวกรเครื่องกล
หากคุณจ้างเต็มทุกลายเซ็นต์ ทุกระบบจะได้ประมาณนี้ (งานบ้านเฉยๆ) เวลายื่นขออนุญาต ดึงแบบเฉพาะที่จำเป็นในการยื่นขออนุญาตออกมายื่นขอได้ แนะนำว่าไม่ควรยื่นตัวเต็มป้องกันการนำแบบไปผลิตซ้ำ
📌ตามกฏหมายในการยื่นขอปลูกสร้างนั้นได้กำหนดจำนวนแบบที่ต้องใช้ยื่นดังนี้
1.แผนผังบริเวณ 1:500
2.รายการประกอบแบบแปลนและแบบแปลนต่างๆ 1:100 ได้แก่ แปลนพื้น / รูปด้าน 2 รูป / รูปตัดทางสั้น ทางยาว / แบบแปลนโครงสร้าง / ผังคาน / ผังฐานราก
3.หากสร้างด้วยวัสดุถาวรหรือทนไฟต้องแนบรายการคำนวณ พร้อมลายเซ็นทุกแผ่น ระบุที่อยู่ สำนักงาน คุณวุฒิผู้ออกแบบ หากเข้าข่ายใช้วิชาชีพควบคุมต้องระบุเลขที่ใบอนุญาต
หมายเหตุ: รูปตัดสามารถใช้เล็กกว่า 1:100 แต่ไม่เกิน 1:250 ได้ หากตัวอาคารยาวเกิน 90 เมตร
อ่านเพิ่ม (ควรอ่าน) https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=174365861850705&id=100889769198315
--------------------------------------------------
ในทางกลับกัน ถ้าคุณจ้างใครเขียนแบบ เช่น ท้องถิ่น หากคุณตกลงเพียงแค่แบบยื่นขออนุญาต คุณจะได้แบบแค่ตามจำนวนที่ท้องถิ่นกำหนดในการยื่นขออนุญาต (มันคือส่วนย่อยของแบบก่อสร้าง ใช้ก่อสร้างได้แต่จะขาดสุขาภิบาลและไฟฟ้า ต้องไปหาหน้างานเอา ไม่มีแบบนำร่องเหมาะกับงานง่ายๆ ) ดังนั้นเวลาจะจ้างเขียนแบบควรตกลงกันที่แบบก่อสร้างทั้งเล่มโดยประกอบไปด้วย 4 หมวดหลักๆ (ระบบแอร์แล้วแต่บ้าน)
📌3. Shop Drawing (แบบแก้ไข หรือขยายรายละเอียด)
ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่มีแบบก่อสร้างไหนสมบูรณ์แบบ 100% หรอก มันจึงเป็นที่มาของการทำ Shop drawing เพื่อแก้ไขหรือขยายรายละเอียดต่างๆระหว่างก่อสร้าง เช่น ทำ Pattern การปูกระเบื้องพื้นบ้าน พื้นห้องน้ำ , การแก้ไขหน้างานในส่วนที่ผิดพลาดจากการออกแบบและไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ ผู้รับเหมาจะบอกให้เจ้าของบ้านตัดสินใจและนี่คือปัญหาเพราะถ้าเจ้าของบ้านไม่รู้เรื่องอะไรเลย และสถาปนิกผู้ออกแบบก็ไม่ได้มาสานต่อ การแก้แบบจะเกิดขึ้นโดยขาดความสวยงามหรือแก้แล้วมีปัญหาตามมา กระทบส่วนอื่นเละเทะไปหมด
โดยแบบที่ถูกแก้ไขระหว่างก่อสร้าง หากมีสถาปนิกคอยกำกับดูแล แบบทุกอย่างจะเริ่มถูกรวบรวมไว้เพื่อรวมเล่มท้ายสุด
📌4.As-Built Drawing (แบบแก้ไขตามหน้างานจริงทั้งหมดหลังก่อสร้างเสร็จ)
และแน่นอนที่สุด นี่คือเล่ม Final ที่แท้ทรูที่สถาปนิกจะรวบรวมให้ท่าน ทาดาาา!!!! ถามว่ามันสำคัญอย่างไร ก็เช่น งานระบบไฟฟ้า งานระบบสุขาภิบาล มันก็จะ Update ล่าสุด งานโครงสร้างเราก็จะได้รู้ว่าตรงไหนผนังอะไร คานซอยตรงไหน เผื่อใช้ต่อเติมในวันข้างหน้า หรือวันดีคืนดีอยากทำ Interior ก็เอาแบบเนี่ยให้คนออกแบบได้เลย
จบแล้วเห็นความสำคัญกันรึยังคะ บางคนถามทำให้เป็นเล่มเดียวกันไม่ได้เหรอ? คือถ้าไล่เรียงตามลำดับจะเห็นว่ามันเกิดขึ้นตามสถานการณ์ จะทำ As-Built ก่อนได้ไง ใครจะรู้ได้ว่าแบบ Construction นั้น Perfect 100% !!!
---------------------------------------------
❌ปล.ด้านล่างคือแบบสำหรับงานก่อสร้างขนาดใหญ่❌
1. Preliminary Drawing (แบบร่างขั้นต้น)
2. EIA permission Drawing (แบบส่งการศึกษาสิ่งแวดล้อม)
3. Bank Loan Drawing (แบบกู้เงินธนาคาร)
4. Construction permission Drawing (แบบขออนุญาตก่อสร้าง)
5. Bidding Drawing (แบบประมูลราคา)
6. Construction Drawing (แบบการก่อสร้าง)
7. Shop Drawing (แบบเพื่อรายละเอียดก่อสร้างแต่ละจุด)
8. Asbuilt Drawing (แบบบันทึกการก่อสร้างที่สร้างจริง)
***ภาพประกอบมีไว้เท่ห์ๆ
----------------------------------------------
💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน
https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n
----------------------------------------------
#boq #สร้างบ้าน #สัญญาจ้างออกแบบ #ผู้รับเหมา #ดีไซน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น