น้ำรั่ว-ซึมเข้าทางหน้าต่าง ปัญหานี้เกิดได้อย่างไร?
ปัญหานี้เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งบ้านใหม่และบ้านเก่า ซึ่งสาเหตุของปัญหานั้นมาจากหลายส่วน และที่สำคัญมันเป็นปัญหาที่คนสร้างบ้านมารู้ตัวอีกทีตอนฝนตกนี่แหละ เพราะไม่คาดคิดว่าตรงส่วนประตู/หน้าต่างนี้จะเกิดปัญหาขึ้นมา ดังนั้นเรามาดูสาเหตุของปัญหากันดีกว่าค่ะ
สาเหตุของอาการน้ำรั่วซึมที่ขอบประตู/หน้าต่าง
- การเว้นขนาดช่องเปิดที่ไม่ได้ขนาดตามแบบทำให้ต้องยิงซิลิโคนเยอะกว่าปกติ
- การจับเซี้ยมที่ขอบหน้าต่างนั้นหนาเกินไปและเกิดการแตกร้าวบริเวณที่ขอบผนังทำให้น้ำซึมเข้ามาตามรอยร้าว
- การใช้ตัวอุดรอยต่อผิดประเภท เช่น ใช้อะคริลิค ใช้ซิลิโคนไม่ได้มาตรฐาน ยืดหยุ่นน้อย ไม่ทนกับรังสี UV ทำให้เสื่อมสภาพไว มีการหดตัว แตก น้ำซึม
- จากการผลิตประตู/หน้าต่าง ที่ออกแบบมาไม่ดี มีน้ำขังในตัวเฟรมและรั่วเข้าบ้าน
- สำหรับหน้าต่างบานเลื่อน อันดับ 1 ด้านน้ำล้นรางและไหลเข้าบ้าน สาเหตุจากการออกแบบรูระบายน้ำที่รางเลื่อนด้านล่างนั้นเล็กเกินไป (เป็นทั้งอลูมิเนียมและ UPVC)
- รอยแตกร้าวตามมุมเฉียงของประตู/หน้าต่าง
- ในกรณีที่ฝนตกและมีลมแรงมากๆ ลมจะพัดน้ำย้อนเข้ามาตามกรอบได้เช่นกัน
- การติดเหล็กดัดโดยเจาะติดเข้ากับตัวบานประตู/หน้าต่าง ทำให้เกิดรูรั่ว
วิธีการแก้ไข
- กำกับผู้รับเหมาให้วัดระยะช่องเปิดให้พอดี สำหรับหน้าต่างเพราะส่วนนี้รับฝนโดยตรง หากเป็นผู้ผลิตมาตรฐานเขาจะส่งคนมาเชคขนาดช่องหน้าต่างก่อนติดตั้งทุกช่องเพื่อไม่ให้เสียเวลาตอนติดตั้ง โดยผู้ผลิตจะทำการลดขนาดตัวบานนิดนึงเพื่อให้ใส่ประตู/หน้าต่างเข้าไปได้และเหลือช่องยิงซิลิโคนน้อยที่สุด
- ตรวจดูรอบช่องเปิดว่ามีการแตกร้าวตามขอบมั้ยหากแตกร้าวเยอะให้ทำการแก้ไขใหม่ PU ก็ช่วยไม่ได้
- เลือกใช้กาวซิลิโคน 100% ที่มีคุณภาพ หลีกเลี่ยงการใช้อะคริลิค แด็บ ในการยาแนวรอยต่อเฟรมกับกระจกเนื่องจากอะคริลิคมีส่วนผสมของน้ำในตัวทำให้น้ำสามารถซึมผ่านตัวมันเข้าไปได้ อีกทั้งเมื่อแห้งตัวจะมีการหดตัวเกิดการแตกร้าวได้ ยิ่งใช้ในส่วนที่มีการขยับ ออกแรง ยิ่งทำให้แตกไวขึ้น (อุดเฟรมหน้าต่าง : ซิลิโคน 100% ทาสีทับไม่ได้แต่เลือกสีซิลิโคนได้)
- ใช้ PU ในการยาแนวรอยต่อระหว่างตัวประตู/หน้าต่างกับรอยต่อผนังปูนซึ่งสามารถทาสีทับได้และมีความยืดหยุ่นสูง อีกทั้ง PU ยังสามารถซ่อมแซมรอยแตกร้าวบนผนังปูนป้องกันน้ำซึมเข้ามาได้ (อุดรอยต่อเฟรมกับผนังปูน : PU sealant เพราะทาสีทับได้)
- การผลิตหรือการออกแบบตัวเฟรมที่ไม่ดี สามารถทำให้ตัวบานมีน้ำเข้าไปได้ การเทสฉีดน้ำหน้าต่างหลังจากติดตั้งเสร็จสามารถเชคได้ว่าบานใดมีปัญหา โดยน้ำจะต้องแรงและฉีดทั่วถึงเลียนแบบฝนที่ตกลงมาได้ หากโชคช่วยฝนตกพอดีก็เป็นการเทสที่ดีไปในตัว ที่สำคัญรีบเทสและรีบแจ้งผู้รับเหมาเรื่องรั่ว เพื่อให้ผู้รับเหมาเรียกซับที่ติดตั้งมาแก้ไขก่อนที่จะทำการจ่ายเงินออกไป
- หากรูระบายน้ำที่ตัวรางเลื่อนมีขนาดเล็กไป ควรปรึกษาผู้รับเหมา ผู้ผลิตในการขยายรูระบาย
- การติดตั้งบัวเหนือขอบประตู/หน้าต่าง ถือเป็นตัวช่วยที่ดีในการกันน้ำฝนที่สาดผนังไหลลงมายังหน้าต่างโดยตรง เพราะน้ำจะซึมเข้าทางรอยต่อด้านบนได้ง่าย โดยบัวนั้นต้องติดยื่นออกจากความกว้างของช่องเปิดข้างละ 5-10 เซนติเมตร กันน้ำย้อนและควรมีการเซาะร่องที่ตัวบัว
- การติดกันสาดคือการแก้ไขระยะยาวในกรณีที่ไม่อยากวุ่นวายแก้ปัญหาไม่ตกสักที หรือรีโนเวทบ้านโดยใช้กรอบบานซื้อสำเร็จขนาดช่องไม่พอดีของเดิมทำให้รั่ว กันสาดช่วยแก้ปัญหาอย่างดี
- ห้ามเจาะตัวบานเพื่อใช้ยึดเหล็กดัดโดยเด็ดขาด
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าปัญหามาจากหลายสิ่ง หลายอย่าง ซึ่งมีทั้งคุณภาพของประตูหน้าต่าง การทำให้ช่องเปิดพอดี การใช้ซิลิโคน การก่อสร้าง ซึ่งหลายคนอาจจะมองแค่ว่ายาแนวไม่ดีเลยมีปัญหา ดังนั้น การที่เราทราบสาเหตุของปัญหาและเริ่มติดกระดุมให้ถูกเม็ดก็จะช่วยป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นได้
หลายคนไม่ให้ค่ากับคุณภาพของประตู/หน้าต่าง ซึ่งความเป็นจริงส่วนนี้คือส่วนที่ป้องกันบ้านท่านจากฝน ทำหน้าที่เช่นเดียวกับผนัง แต่กลับถูกมองข้ามถึงการลงทุนในการเลือกใช้ของที่มีคุณภาพ ทนทาน และสามารถป้องกันฝนเข้าบ้านได้
----------------------------------------------
รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน
-----------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น