วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2565

EP88. 🐝เข้าแบบหล่อโครงสร้าง ใช้อะไรดี?

 🐝เข้าแบบโครงสร้าง ใช้อะไรดี?



🔻เข้าแบบ คืออะไร?


คือการทำบล็อกโครงสร้างชั่วคราวเพื่อใช้เทหล่อคอนกรีต นิยมทำในงานหล่อโครงสร้างเพื่อใช้ในการหล่อฐานราก ตอม่อ คาน เสา พื้น 


🔻วัสดุที่นิยมใช้ในการเข้าแบบโครงสร้างอาคารในปัจจุบันได้แก่


🪴1.ไม้แปรรูป (Lumber)


- ไม้เบญจพรรณ ไม้กระบาก ไม้ยูคาลิปตัส

- หน้าไม้ที่นำมาใช้งานมีหน้า 6,8,10" จึงทำให้ต้องต่อแผ่นและไม้พวกนี้ไม่มีการเข้าลิ้นระหว่างกันจึงมีโอกาสที่น้ำปูนจะไหลออกตามรอยต่อ ทั้งด้านข้างแบบและรอยต่อแนวตั้งฉากมีเสมอทำให้เกิดโพรงอากาศ (Honeycombing)

- ไม้คร่าวที่ใช้ยึดโครงไม้แบบ ต้องตีให้แน่นและแข็งแรงพอป้องกันการปริ โก่ง แตก เวลาเทคอนกรีต

- สามารถดูดซึมน้ำจากตัวคอนกรีตทำให้สูญเสียน้ำในการบ่ม


🍀2.ไม้อัดเคลือบฟิล์มดำ (Film Faced Plywood) 


- คือ การนำไม้อัดที่เป็นแผ่นบางๆ มาอัดด้วยกาวที่กันน้ำ (Melamine หรือ Phenol Formaldehyde) และเคลือบผิวหน้าด้วยฟิล์มฟิโนลิกสีดำ (Phenolic Resin) ทำให้น้ำไม่สามารถซึมผ่านไปได้ ลดการดูดซึมน้ำจากไม้แบบ

- ส่วนใหญ่มีขนาด 4x8 ฟุต หรือ 1.22x2.44 เมตร สามารถตัดตามขนาดได้ทำให้ไม่ต้องต่อไม้ ระวังเพียงรอยต่อแนวตั้งฉากกัน ความหนาอยู่ที่ 10,15,20,25 มิลลิเมตร

- มีคุณสมบัติมันวาวและน้ำซึมผ่านได้ยาก 

- มีความแข็งแรง ทนทาน แกะแบบออกง่าย สามารถใช้งานซ้ำได้หลายครั้ง  

- เวลาใช้ควรสลับหน้ากันใช้เรื่อยๆ

- สำหรับไม้อัดเคลือบฟิล์มดีดี สามารถใช้ซ้ำได้ 5-7 ครั้ง (ข้อมูลจากผู้ผลิต)


☘️3.ไม้อัดยาง


- มีขนาดกว้างตั้งแต่ 6 นิ้ว, 8 นิ้ว , 10 นิ้ว และสามารถสั่งผลิตได้ถึง 48 นิ้ว

- ไม่มีสารเคลือบ จึงทำให้ดูดน้ำจากคอนกรีต

- หากใช้หน้าไม้ตามขนาดมาตรฐาน ก็ต้องต่อแผ่นจึงควรระมัดระวังเรื่องน้ำปูนไหลจากรอยต่อหน้าไม้ด้านข้างแบบและรอยต่อแนวตั้งฉาก ควรทำการอุดรอยต่อและเข้าแบบให้แน่นหนา


🌿4.ไม้แบบพลาสติก


- ทำจากพลาสติก พอลิเอทิลีน (Polyethylene) มีคุณสมบัติที่ เหนียว ทนทาน ด้านหน้าเรียบ ด้านหลังเป็นครีบเสริมเหล็กกล่องเพื่อเพิ่มความแข็งแรงไม่ให้บิดเบี้ยวหรือเอียง

- สามารถใช้งานได้มากกว่า 100 ครั้ง (ข้อมูลจากผู้ผลิต)

- ไม่ต้องใช้น้ำยาทาแบบก็สามารถถอดแบบออกง่ายและสวยงาม

- มีบริการเช่า ซึ่งสามารถประหยัดค่าไม้แบบจากไม้จริงหรือไม้อัด เจ้าของบ้านสามารถเทียบราคาใน BOQ ในส่วนไม้แบบกับบริการให้เช่า เพื่อลดต้นทุนในการก่อสร้าง (ตกลงกันก่อนทำสัญญาดีที่สุด)


🎄5.แบบเหล็ก


- วิวัฒนาการมาจากไม้แบบ ลดจุดด้อยในหลายส่วน

- แข็งแรง ทนทาน ไม่ต้องกลัวแบบจะแตกตอนเทคอนกรีต

- นำกลับมาใช้ใหม่ได้ตลอด

- มีบริการเช่า ให้เลือกหลากหลายขนาด


🔻ข้อสำคัญในการเข้าแบบหล่อคอนกรีต


การเข้าแบบที่สามารถถอดออกมาได้นั้นยังคงคลาสสิคอยู่เสมอนั่นก็เนื่องมาจาก การที่มันถอดออกมาได้ เพราะการตรวจเชคว่าคอนกรีตที่เทลงไปในแบบหล่อคอนกรีตนั้นมันเต็มหรือไม่ มีโพรงอากาศ (Honeycombing) บริเวณรอบๆนอกหรือเปล่า ถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยมีสาเหตุมาจาก


- หินไปติดอยู่ตามเหล็กโครงสร้าง ลูกปูน จนคอนกรีตไหลลงไปด้านข้างและด้านใต้ไม่ได้

- ไม้แบบแตกระหว่างเทคอนกรีตจนน้ำปูนไหลออกมา

- เข้าไม้แบบไม่ดี ไม่มีการอุดรอยต่อระหว่างแผ่นหรือรอยต่อระหว่างด้านข้างกับท้องคาน

- การจี้คอนกรีตที่ไม่ดีพอจนเกิดโพรง หรือจี้ไปโดนเหล็กโครงสร้างจนเสียแนว

- ไม่หนุนลูกปูนทำให้เหล็กไม่ได้แนว เวลาเทคอนกรีตเหล็กอาจจะขยับแนวไปชิดฝั่งใดฝั่งหนึ่งจนคอนกรีตเข้าไปแทรกไม่ได้


🔻ลูกปูน คืออะไร

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/123400543613904/?d=n


🐝Honeycombing คือ การเป็นโพรงของคอนกรีตที่มีลักษณะคล้ายรังผึ้งโดยมากมักจะเกิดบนผิวหน้าของคอนกรีตที่เทโดยมีแบบปิด เช่น ด้านข้างของคาน เสา หรือผนัง


🔻 อันตรายแค่ไหน?


- ถ้าเกิดขึ้นแค่บริเวณผิวหน้าก็ไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อโครงสร้างแต่จะส่งผลต่อความสวยงามเสียมากกว่า แต่หากว่าลึกและโพรงมีขนาดใหญ่ก็อาจจะส่งผลต่อความคงทนและการรับกำลังของโครงสร้างคอนกรีตได้

- หากเป็นโพรงมากจนสูญเสียระยะ covering ของคอนกรีตกับเหล็กไปเสี่ยงต่อการเกิดสนิมในเหล็กได้ง่าย และหากเป็นโพรงจนเห็นเหล็กโครงสร้างเลย โปรดปรึกษาวิศวกร อย่าคาดหวังว่าแอดมินเพจนี้จะตอบได้ค่ะ (อิอิ)


นอกจากการตรวจเชคโพรงอากาศในเนื้อคอนกรีตได้แล้วนั้น ข้อดีคือ การถอดแบบได้จะสามารถบ่มคอนกรีตได้ง่าย


📌การใช้อิฐบล็อกเข้าแบบคอนกรีตในส่วนฐานราก คานชั้น 1


- เป็นการยากในการตรวจเช็คว่าเกิดโพรงอากาศหรือไม่ เพราะหล่อติดตายกับคอนกรีต

- เคาะด้านข้างไม่ได้ด้วย

- บล็อกคอนกรีตมีการดูดซึมน้ำสูงเมื่อนำมาทำการเข้าแบบโครงสร้างก็จะแย่งน้ำในเนื้อคอนกรีตทำให้ส่วนผสมไม่ได้มาตรฐาน คอนกรีตสูญเสียน้ำ แห้งไว

- การแกะออกไม่ได้ก็บ่มคอนกรีตลำบากเช่นกัน

- รอยต่อระหว่างก้อนเป็นช่องทางให้น้ำปูนไหลออก และรอยต่อระหว่างลีนคอนกรีตด้านใต้กับอิฐบล็อกก็ทำให้สูญเสียน้ำปูนเช่นกัน


🔻ลีนคอนกรีต (Lean Concrete) คืออะไร


Lean Concrete คือ คอนกรีตหยาบโดยมีอัตราส่วนปูน:ทราย:หิน  1:3:5 เทลงไปบนพื้นดินที่ปรับระดับแล้วให้มีความหนาประมาณ 5-10 เซนติเมตร

เพื่อเป็นแบบหล่อให้โครงสร้างที่ติดกับดิน เช่นท้องคอนกรีตฐานราก คานคอดิน พื้น หรือส่วนของโครงสร้างบ้านที่ต้องสัมผัสกับพื้นดิน เพราะยากแก่การจะตั้งไม้แบบหล่อ และหากจะทิ้งไม้แบบไว้ก็เสี่ยงกับการเป็นอาหารปลวกในอนาคต


----------------------------------------------

💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n

-----------------------------------------------

อ่านเรื่อง Honeycombing เพิ่มเติม : https://www.cpacacademy.com/index.php?tpid=0128


อ่านเรื่องการเทคอนกรีตและการทำให้แน่น : https://www.cpacacademy.com/index.php?tpid=0143


การถอดงานไม้แบบ : http://blog.bru.ac.th/wp-content/uploads/bp-attachments/6948/บทที่-3.pdf


เรื่องไม้แบบในส่วนต่างๆ  หน้า 33 : http://203.170.248.248/http_public/download/Articles/CE/CE7.pdf


-----------------------------------------------

ที่มารูปภาพ : https://m.pantip.com/topic/40467778?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น