วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2565

📖🗞แบบพื้นฐานที่ใช้ในการก่อสร้างบ้าน

 📖🗞แบบพื้นฐานที่ใช้ในการก่อสร้างบ้าน




หลายคนจ้างออกแบบแต่ไม่รู้หรอกว่าแบบที่ได้มานั้นเป็นเช่นไร มีจำนวนแผ่นเท่านี้ มีแบบเท่านี้ OK มั้ย? เอาไปสร้างบ้านได้มั้ย มีปัญหาอ๊ะป่าววว 


ก่อนอื่นต้องบอกตรงนี้ว่า Skill การเขียนแบบ ประสบการณ์ในการทำงานของแต่ละคนไม่เหมือนกันซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อประสิทธิภาพการเขียนแบบ บางคนบอกว่า แบบเท่านี้แหละสมบูรณ์แล้วใช้ก่อสร้างได้ เจ้าของบ้านก็ไม่รู้หรอกว่าสมบูรณ์จริงมั้ย? นอกจากจำนวนแบบที่จำเป็นต้องมีแล้ว คุณภาพการเขียนแบบยังเป็นสิ่งที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ซึ่งในส่วนคุณภาพการเขียนแบบนั้น สถาปนิกด้วยกันดูออกแต่เจ้าของบ้านดูไม่ออก จึงเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายจริงๆ ยังไงก็ดูเรื่องแบบที่ควรจะมีในการสร้างบ้านก่อน 


📌ตามกฏหมายในการยื่นขอปลูกสร้างนั้นได้กำหนดจำนวนแบบที่ต้องใช้ยื่นดังนี้


1.แผนผังบริเวณ 1:500

2.รายการประกอบแบบแปลนและแบบแปลนต่างๆ 1:100 ได้แก่ แปลนพื้น / รูปด้าน 2 รูป / รูปตัดทางสั้น ทางยาว / แบบแปลนโครงสร้าง / ผังคาน / ผังฐานราก

3.หากสร้างด้วยวัสดุถาวรหรือทนไฟต้องแนบรายการคำนวณ พร้อมลายเซ็นทุกแผ่น ระบุที่อยู่ สำนักงาน คุณวุฒิผู้ออกแบบ หากเข้าข่ายใช้วิชาชีพควบคุมต้องระบุเลขที่ใบอนุญาต


หมายเหตุ: รูปตัดสามารถใช้เล็กกว่า 1:100 แต่ไม่เกิน 1:250 ได้ หากตัวอาคารยาวเกิน 90 เมตร


🔻สามารถใช้เพียงแบบที่เขากำหนดไว้ยื่นขอได้โดยไม่ต้องใช้แบบทั้งหมด (ป้องกันการนำแบบไปผลิตซ้ำและมีมากแผ่นก็ยิ่งเสียเวลาทำแบบ เรื่องเยอะ)


📌สำหรับบ้านไม่เกิน 2 ชั้น พื้นที่ต่ำกว่า 150 ตรม.และอยู่นอกเหนือพื้นที่ควบคุมกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น (เอาง่ายๆถามท้องถิ่นแถวบ้านว่าเข้าข่ายต้องยื่นแบบขออนุญาต Version เต็มมั้ย)


- ใช้เพียงแผนผังบริเวณที่ตั้งโดยสังเขปและเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน


กฎกระทรวง 2564 

https://download.asa.or.th/03media/04law/fubr/c3_bcmr68e-64.pdf


ที่กฎหมายกำหนดในการยื่นขออนุญาตนั้นเป็นเกณฑ์ต่ำสุด แต่เวลาไปยื่นจริงๆเราจะพบว่าแต่ละท้องที่ขอมากกว่านั้น (เป็นปัญหาที่ขอไม่พูด ไม่รู้มากพอ ) 


📌แถบสีแดงในรูปประกอบ


คือ แบบที่ทางท้องถิ่นมักกำหนดในการยื่นขออนุญาต ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายกำหนดและบางท้องถิ่นเรียกขอแบบส่วนเกินไม่เหมือนกันด้วย ดังนั้นถ้าไม่อยากมีปัญหา เสียเวลา ทะเลาะเรื่อยเปื่อยก็ดูแบบให้ครบตามแถบสีแดง หากมีครบบ้านสร้างเสร็จเป็นหลังแน่นอน แต่อาจจะไม่สมบูรณ์เพราะขาดไฟฟ้ากับสุขาภิบาลที่ไม่ได้กำหนดในการยื่นขออนุญาต เพราะบางที่ไฟฟ้าและประปายังเข้าไม่ถึง แต่ถ้าบ้านท่านมีครบก็แนะนำให้เพิ่มแถบสีเหลืองเข้าไป


📌แถบสีเหลืองในรูปประกอบ


คือ ส่วนที่แนะนำเพิ่มขึ้นมา

- ผังฝ้าเพดาน ดวงโคม ปลั๊ก คือ Guide Line นำร่องในงานสถาปัตย์ เพื่อเอาไว้ให้เจ้าของบ้านนำแบบไปหาช่างมาทำตามแบบหรือนำแบบส่งให้วิศวกรไฟฟ้าคำนวณไฟฟ้า

- ผังสุขาภิบาลชั้น 1,2 และแบบขยายสุขาภิบาลห้องน้ำทุกห้อง โดยวิศวกร

- แบบขยายต่างๆที่จำเป็น เช่น รั้วประตูหน้าบ้าน ราวกันตกระเบียง แบบขยายโรงจอดรถ แบบขยายโครงสร้างที่จำเป็น 

--------------------------------------------------

❗️อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะยังสับสนว่าถ้าได้แบบในแถบสีแดง+เหลือง คือ ครบถ้วนใช่มั้ย? 


คำตอบคือ นั่นคือแบบพื้นฐานที่เจ้าของบ้านควรจะเรียกจากผู้ออกแบบให้ครบตามที่แนะนำ ส่วนแบบที่ครบถ้วนคือแบบที่ ไม่ว่าคนอ่านแบบสงสัยตรงไหน ก็สามารถมีคำตอบ มีแบบขยายทุกจุด ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สถาปนิกควรจะเขียนแบบออกมาให้ครบถ้วนกับบ้าน 1 หลังมากที่สุด ไม่ว่าจะเล็กหรือจะใหญ่ จำนวนแผ่นไม่ได้วัดว่าแบบครบถ้วนหรือสมบูรณ์ ขึ้นอยู่กับคุณภาพแบบในเล่มมากกว่าว่าสามารถนำไปใช้ก่อสร้างโดยเกิดปัญหาน้อยที่สุด

--------------------------------------------------


📌แบบขยายใดบ้างที่ต้องเขียนเพิ่ม


หากจ้างสถาปนิกแล้วแบบที่ออกแบบนั้นมีส่วนตกแต่ง ความพิเศษต่างๆ ที่ต้องให้ระยะ ต้องทำการเขียนแบบขยายเพิ่มออกมาเพื่อให้แบบสมบูรณ์ครบถ้วน ก่อสร้างได้ถูกต้องตามแบบที่ออกแบบ

- แบบขยายทุกส่วนที่เกี่ยวกับงานตกแต่ง เช่น แผงบังแดด pattern กระเบื้องห้องน้ำ ราวกันตก บัวหน้าต่าง 

 - แบบขยายงานโครงสร้างช่วงรอยต่อ เช่น แบบขยายรอยต่อโครงสร้างเหล็กกับคอนกรีต 


📌ส่วน Drawing List ทั้งหมดในรูปประกอบนั้น มักเกิดขึ้นกับงานสร้างบ้านที่มีดีไซน์ เอกลักษณ์ ลูกเล่น มีระบบครบทั้งหมด ค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรค่อนข้างสูง แบบขยายเยอะ มีมาตรฐานในการเขียนแบบสูงมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแบบไม่ครบตามนี้คือไม่ดี เพราะบ้านแต่ละแบบดีไซน์ต่างกันสามารถจบงานได้ ไม่ลึกลับซับซ้อน 


ส่วนว่าจะหาสถาปนิกที่เขียนแบบดี มีมาตรฐาน เขียนถูกต้อง ตามเก็บงานจนจบ ไม่ทิ้งงานจากไหน  ..... เอ่อ อันนี้ช่วยไม่ได้จริงๆ คงได้แต่แนะนำให้ขอดูผลงาน ไปดูหน้างานจริง หาทางสอบถามเจ้าของบ้าน ช่วยได้แค่นี้จริงๆค่ะ 


----------------------------------------------

💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n

-----------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น