วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2565

📌อยากได้แบบก่อสร้างที่สร้างแล้วไม่มีปัญหาทำอย่างไร?

 📌อยากได้แบบก่อสร้างที่สร้างแล้วไม่มีปัญหาทำอย่างไร?



นี่เลยค่ะ มีเพียงแบบเดียว...As-built Drawing หรือก็คือ แบบก่อสร้างตามหน้างานจริงขณะก่อสร้าง พูดง่ายๆก็คือ ต้องสร้างบ้าน สร้างอาคารให้เสร็จก่อนถึงจะได้มันมาครอบครอง (ต้องอยู่ในสัญญาด้วยนะ)  ซึ่งหมายความว่า ไม่มีแบบก่อสร้างใดที่จะทำให้การก่อสร้างบ้านสมบูรณ์แบบ ไม่มีปัญหาระหว่างทาง 100%


**** กรุณาอ่านให้จบหากอยากจะสร้างบ้านเพราะมันสำคัญ ยาวมาก เขียน 3 เรื่องควบ แต่จำเป็นต้องเขียนรวมกัน ****


⛔️เนื้อหานี้เหมาะกับใคร


1.ผู้ที่ต้องการสร้างบ้านพื้นที่เกิน 150 ตรม. จึงเข้าหลักสถาปัตยกรรมควบคุม ต้องจ้างสถาปนิกออกแบบ จึงเกี่ยวเนื่องถึงหลักการ ข้อมูลต่างๆ การบริการในวิชาชีพสถาปนิก

2.บ้านต่ำกว่า 150 ตรม. ไม่จำเป็นต้องใช้สถาปนิกแต่อยากจ้างสถาปนิก ก็เข้าหลักการด้านบน

3.ไม่ใช้สถาปนิก และจ้างคนที่ไม่ใช่สถาปนิกออกแบบ ทั้งต่ำกว่า 150 ตรม. จ้างเซ็นต์เมื่อเกิน 150 (ผิดกฏหมาย) เนื้อหาด้านล่างจะใช้ไม่ได้กับคนที่ไม่ใช่สถาปนิก 


🔻มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าแบบที่ใช้สร้างบ้านมีอะไรบ้าง


   1. Preliminary Drawing (แบบร่างเบื้องต้น)

   2. Construction Drawing (แบบก่อสร้าง)

   3. Construction permission Drawing (แบบขออนุญาตก่อสร้าง)

   4. Shop Drawing (แบบแก้ไข หรือขยายรายละเอียด)

   5. As-Built Drawing (แบบแก้ไขตามหน้างานจริงทั้งหมดหลังก่อสร้างเสร็จ)


อ่านเพิ่มเติม : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0MHtXZFAb35qNqNYAB742mMrzeMYzw7Y6f5RNE9o8qGBwNfU1eTWpNEHNh4WD8X3El&id=100889769198315


ซึ่งหากคุณจ้างสถาปนิกออกแบบสิ่งที่คุณจะได้ตามกระบวนการจ้างออกแบบแน่ๆคือ  1,2,3 ส่วนจะได้ 2 หรือ 3 นั้นต้องตกลงในสัญญากันให้ดี


💕สมมุติว่าจ้างออกแบบและได้เล่มก่อสร้างข้อ 2,3 มา


จะเห็นได้ว่าแบบทั้ง 2 แบบนั้นคือแบบที่เกิดขึ้นก่อนกระบวนการสร้างบ้านจริงๆขึ้นมา ซึ่งปัญหามันจะเกิดตอนสร้างบ้านนี่แหละ 

 ⁃ ปัญหาจากตัวแบบเองที่มีแน่นอนอยู่แล้ว (อธิบายไปหลายโพสละ) = ปัญหาจากแบบ

 ⁃ ต่อให้อ่านแบบเป็น มีคนคุมงาน แต่บางครั้งการสื่อสารกับคนหลายๆคนก็ทำให้งานผิดพลาดได้เช่นกัน จึงจะเห็นว่าไม่ใช่แค่แบบอย่างเดียวที่มีปัญหา = ปัญหาจากคน

 ⁃ ปัญหาจากเรื่องวัสดุที่เลือกใช้หมดรุ่น เปลี่ยนแบบ เลิกผลิต รอสินค้า = ปัญหาจากวัสดุ

 ⁃ ไม่รู้ว่าวัสดุไหนต้องสั่งก่อน ต้องใช้เวลาการผลิต = ปัญหาจากการวางแผนงาน


ยกตัวอย่างมาพอคร่าวๆ ให้ดูว่า ปัญหาในการก่อสร้างไม่ได้เกิดจากแบบอย่างเดียว ต่อให้แบบดีแค่ไหนแต่มันก็มีเรื่องให้ผิดพลาดได้ ไม่ต้องห่วงเรื่องแบบมีปัญหา ยังไงก็มีแต่อยู่ที่ว่ามากน้อยแค่ไหน 


แบบก่อสร้างพื้นฐานที่เวลาจ้างสถาปนิกออกแบบแล้วควรจะได้มีอะไรบ้าง : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0Zw1wkzLm2Gxu64fzG99UMfFKMgC9oWHMV5f6EFX1k7PyRyeE6xkwXaJ4U9DibQDwl&id=100889769198315


🔴 ทางแก้ปัญหาล่ะ มีมั้ย?


🔻ก่อนจะพูดถึงทางแก้ เรามาดูหลักการการจ่ายงวดงานที่อยู่ในคู่มือสถาปนิก 2547 มาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พศ.2532 ได้ระบุการจ่ายเงินวิชาชีพไว้ดังนี้ (ไม่ใช่กฎหมาย)


1.งวดที่ 1 - 5% ตกลงรับงาน

2.งวดที่ 2 - 20% ส่งรายละเอียดโครงการและแบบร่างขั้นต้น

3.งวดที่ 3 - 20% ส่งแบบร่างขั้นสุดท้าย

4.งวดที่ 4 - 40% ระหว่างเขียนแบบก่อสร้างจนส่งเล่ม

5.งวดที่ 5 - 15% ระหว่างก่อสร้างจนจบงาน

อ้างอิง : หน้า 158 https://asa.or.th/handbook/handbook2547/


🔻เรามาดูประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องมาตรฐานแนวทางในการปฏิบัติการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พศ.2558 กำหนดขั้นตอนการออกแบบไว้ 6 ขั้นตอน (ขอย่อบางส่วน)


1.ขั้นตอนการออกแบบแนวความคิด

2.ขั้นตอนการออกแบบร่าง

3.พัฒนาแบบร่าง

4.ทำแบบก่อสร้าง

5.ให้คำปรึกษาด้านการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง

6.งานกำกับดูแลช่วงการก่อสร้าง

 ⁃ ตรวจเยี่ยมสถานที่ครั้งคราวเพื่อดูการก่อสร้างและความก้าวหน้าของงาน

 ⁃ ให้ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมที่จำเป็นที่เกิดจากแบบหรือระหว่างก่อสร้าง

 ⁃ อนุมัติวัสดุ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความงามของงานออกแบบ


จากข้อ 6 จะเห็นว่าถ้าหากแบบมีปัญหา ก่อสร้างต่อไม่ได้ สถาปนิกต้องจัดการแก้ไข


ถึงแม้จะกำหนดมาตรฐานมา แต่ทั้งนี้ในข้อกำหนดก็ระบุว่าในการจ้างออกแบบว่า "ซึ่งอาจจะครบทุกขอบเขตและขั้นตอนของประเภทงานนั้นๆ หรือเป็นบางส่วนก็ได้ตามแต่ตกลง ให้ถือสัญญาว่าจ้างเป็นเอกสารสำคัญ"  อิหยังว้าาา.... ดังนั้นดูให้ดีว่าสัญญาจบถึงข้อ 4(ส่งแบบก่อสร้าง) หรือ 6(สร้างจนบ้านจบ)


อ้างอิง : https://www.act.or.th/uploads/news/837/m.arch_201603311743.pdf


🔻จรรยาบรรณของสถาปนิก

 ⁃ หมวด 3 จรรยาบรรณต่อผู้ว่าจ้าง : ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่ละทิ้งงานสถาปัตยกรรมควบคุมที่ได้รับทำโดยไม่มีเหตุอันควร

อ้างอิง : https://download.asa.or.th/03media/04law/aa/cr58.pdf


จากที่อ้างอิงมา 3 เหล่าทัพจะพบได้ว่า ทั้งหมดล้วนบอกไปในทาวเดียวกันคือ จนจบงานก่อสร้าง


ซึ่งในการสร้างบ้าน ด่านที่ปวดหัวมากที่สุดคือด่านงานก่อสร้าง ซึ่งทางออกสำหรับเรื่องนี้ก็มีอยู่คือ การทำสัญญาครอบคลุมไปจนจบงานก่อสร้างบ้าน แต่ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำกันมาจาก


 ⁃ ผู้ว่าจ้างไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องการทำสัญญา หลักในการทำสัญญาตามคำแนะนำในคู่มือสถาปนิก งานบริการมูลฐาน มาตรฐานการออกแบบที่กำหนดไว้เป็นข้อบังคับ จรรยาบรรณคืออิหยังวะ? เขาเขียนสัญญาแบบไหนก็เซ็นต์ตามนั้น มารู้ตัวอีกที สัญญาระบุว่าจ่ายงวดสุดท้าย 100% เมื่อได้แบบก่อสร้าง  นั่นหมายถึงอะไร? หมายความว่า เขาอาจจะไม่ตามแก้แบบเวลามีปัญหาจากตัวแบบที่เกิดจากการออกแบบ เขียนแบบ จบสัญญากันแล้วเลิกแล้วต่อกัน บางคนอาจจะตามดูแลให้จนจบงาน แต่ขอเบิก 100% ตอนส่งแบบก่อสร้างกลัวผู้ว่าจ้างยึกยัก  หรือชั้นตามดูให้นะแต่ขอคิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม 

 ⁃ สถาปนิกยืนกรานตั้งแต่ตอนทำสัญญาว่าขอจบการจ่ายเงิน 100% ที่การส่งแบบก่อสร้าง ซึ่ง OK ชัดเจนดีไม่ผิด ถ้าพอใจสถาปนิกคนนี้ทำสัญญาได้เลย เพราะการเบิกจ่ายงวดที่เขียนมา นั่นไม่ใช่ข้อกฎหมายที่บังคับให้สถาปนิกทุกคนปฏิบัติตาม แต่ก็ต้องนึกถึงตอนบ้านมีปัญหาด้วยนะจ๊ะ ว่าจะแก้เกมส์อย่างไร ช่วงก่อสร้างบ้านนี่แหละปัญหา No.1


📖ส่วนแบบประเภทที่ 4.Shop Drawing และ As-Built Drawing นั้น สำหรับงานบ้านพักอาศัย การที่คุณจะได้แบบนี้นั้นจะเกิดจาก สถาปนิกสานต่องานระหว่างก่อสร้างที่มีปัญหา เขียนแบบเพิ่มเติมเรียก Shop Drawing และรวบรวมแบบระหว่างก่อสร้างตามการก่อสร้างบ้านจริงเรียก As-Built Drawing (ระบุในสัญญาแต่งานบ้านมักไม่ค่อยเจอคนทำ แค่หาคนที่เขียน Shop drawing ให้ก็ยากแล้ว) 


💕แล้วทำไงสถาปนิกถึงจะสานต่อล่ะ

1.สัญญาไปจนจบงานก่อสร้าง

2.จรรยาบรรณเฉพาะคนล้วนๆ ทั้งมีสัญญาและไม่มีสัญญา


📣 การกันงวดสุดท้ายไม่ใช่เครื่องการันตีว่าสถาปนิกจะอยู่กับคุณไปตลอดจนจบงานก่อสร้าง แต่อย่างน้อยก็ยังไม่ต้องจ่ายงวดนี้แหละนะ... แลกกัน พอทำใจได้บ้าง


ดังนั้นเมื่อใครคิดจะจ้างสถาปนิกออกแบบบ้านแล้วบังเอิญผ่านมาเห็นโพสนี้ ก็อยู่ที่คุณแล้วว่าจะตัดจบแบบไหน (เอาแค่งานบ้านนะ อย่าไปปนเรื่องอื่น )


สรุป : ถือสัญญาเป็นสำคัญ ถ้าสัญญาระบุครอบคลุมการออกแบบครบ 6 ขั้นตอน งวดการจ่ายเงินก็จะไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ งวดสุดท้ายเบิกเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ 


⛔️ ส่วนแนวทางการแก้ปัญหา


1.ท่านต้องมีข้อมูลเรื่องการทำสัญญาการจ่ายเงิน มาตรฐานการจ้างออกแบบ ซึ่งเขียนไปแล้ว อ่านเยอะๆ

2.ท่านต้องทำสัญญาให้ครอบคลุมไปจนถึงการจบงานก่อสร้างและการจ่ายงวดสุดท้ายเมื่อจบก่อสร้าง

3.จ้างสถาปนิกออกแบบหากเกิน 150 ตรม.และเชคใบประกอบวิชาชีพ เพราะมันเป็นกฎหมายควบคุม (ส่วนบ้านต่ำกว่า 150 ตรม. อยากจ้างสถาปนิกทำได้เลย ทำตามที่แนะนำไป)

3.ไม่รู้แล้ววววว ช่วยได้แค่นี้ ช่วยไม่ได้ทุกคน เขียนแค่นี้ไม่พูดล้าววว

----------------------------------------------

💟รวมบทความที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/130453836241908/?d=n

-----------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น