วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2565

EP.18 เสาเข็มบ้านๆต้องใช้แบบไหน


วันก่อนเห็นโพสที่ถามเรื่องจะต่อเติมครัว ลงเสาเข็มแบบนี้ได้มั้ย ก็เลยอยากเขียนเรื่องเสาเข็มด้วยความรู้อันน้อยนิดแต่อยากแบ่งปัน โดยผู้เขียนจะไม่อธิบายว่ามีแบบไหน กี่แบบนะคะเพราะสามารถหาอ่านได้จากแหล่งอื่นทั่วไปเยอะมาก ถ้าเอามาเขียนต้องยาวมากเพราะมันมีหลายแบบจริง แต่จะเขียนในส่วนทริคเล็กๆน้อยๆที่คนยังมองข้ามไปแทนค่ะ

ใครมีความรู้มากกว่าเชิญแบ่งปันกันได้นะคะ ขอเน้นเป็นบ้าน 1-2 ชั้นอย่างเดียว


🍓งานบ้าน 1-2 ชั้น/ต่อเติมควรใช้ฐานรากแบบไหน

- คำถามนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบ้าน แต่ขึ้นอยู่กับสภาพดินของแต่ละภาค ซึ่งภาคเหนือและอีสานก็จะเป็นประเภทฐานรากแผ่ เนื่องจากเป็นดินแข็ง ดินภูเขา หิน ทราย หรือฐานรากแบบมีเข็มแล้วแต่พื้นที่ แต่ถ้าเป็นภาคอื่นๆที่เป็น "ดินอ่อน" ก็จะเป็นฐานรากแบบมีเข็มแทน 


🍓แบบเสาเข็มมีการรับแรงกี่แบบ

- มี 2 แบบคือ ใช้การต้านทานจากความฝืด(Friction Force) ของดินเหนียวรอบๆเสาเข็ม ร่วมกับ การแบกรับน้ำหนักที่ปลายเสาเข็ม (End Bearing) ซึ่งหยั่งถึงชั้นดินดาน หรือดินแข็ง

- บ้าน 1-2 ชั้น อาจจะไม่ต้องลงถึงดินดานเพราะมันลึกมาก ใช้ความฝืดจากดินที่อยู่รอบๆรับน้ำหนักตัวบ้านแทน

🍓ฐานรากแผ่ขนาดใหญ่มากเลย มันปกติมั้ย?

- ถ้าจะเอาไปเทียบกับฐานรากมีเข็มมันก็เทียบกันไม่ได้เพราะรูปแบบการถ่ายน้ำหนักลงดินมันต่างกัน ฐานรากแผ่เน้นขนาดฐานเพื่อให้รองรับน้ำหนักตัวบ้านได้ทั้งหลัง แต่ฐานเข็มนั้นพระเอกคือ เสาเข็มจะทรุดหรือไม่ทรุดขึ้นอยู่กับดินที่รับเข็มโดยรอบและน้ำหนักของทุกสิ่งที่เข็มต้องรับ

- ฐานรากแผ่ตัวบ้านมีขนาดได้ตั้งแต่ 1.50x1.50 ม. ไปจนถึงเกิน 2.00x2.00 เมตร

- ความลึกในการขุดดินนั้นก็ต้องมี 1.50 เมตรขึ้นไป ยิ่งถ้าเพิ่งถมใหม่แบบสูงลิบก็ต้องปรึกษาวิศวกร


🍓ช่วยดูให้หน่อยต่อเติมด้านหลังใส่เข็มแบบนี้ได้มั้ย

- Keyword ของการรับน้ำหนักคือ "ดิน" ไม่ใช่ว่ามีเข็มแล้วทุกสิ่งคือ จบ ความจริงคือ "ดินโดยรอบเข็มรับน้ำหนักบรรทุกที่เกิดขึ้นได้ไหม โดยต้องดูถึงความสามารถของดินที่จะรับน้ำหนักว่ารับไหวไหม เช่น ดินบอกเข็มว่าชั้นไหวที่ 500 กิโลนะเธออย่าเกินนี้ แต่เข็มบอกเจ้าของบ้านซื้อของมาใส่เต็มเลย ปาไป 800 กิโล ..... ก็ต้องทรุด 

- ดังนั้นโปรดถามคนที่กำหนดความยาวเข็มว่า OK ใช่มั้ย เชคข้อมูลดินมาแล้วใช่มั้ย 

- การต่อเติมก็เหมือนเอาอะไรไปเกาะ ส่วนที่เกาะนั้นต้องมั่นใจว่าจะไม่เป็นภาระ ไม่งั้นจะเกิดการดึงกันจนทำให้บ้านฉีก เพราะมันอยู่กันบนละโครงสร้าง การทรุดก็ต่างกัน เข็มไม่ได้ลงถึงชั้นดินดานโอกาสทรุดก็มี


🍓แล้วใครล่ะที่จะรู้ว่าแถวนี้เค้าตอกกันกี่เมตร ต้องใช้ความยาวเข็มเท่าไหร่

- คำถามนี้รวมไปถึงความยาวเข็มใน BOQ ที่ผู้รับเหมาใส่มาด้วยนะคะ ส่วนนี้ถ้าไม่จ้างคนมาสำรวจชั้นดิน ก็ต้องทำตัวเป็นโคนันนิดนึงคือ 1.ถามคนข้างบ้านที่เพิ่งสร้าง บ้านพี่ตอกกี่เมตร 2.ถ้าแถวบ้านไม่มีคนสร้างไปขอข้อมูลจาก อบต. เทศบาล ว่าแถวนี้ตอกกี่เมตร

- เมื่อได้ข้อมูลความยาวเข็มมาแล้ว รบกวนเชคใน BOQ คุยกับผู้รับเหมา และตอนเขาตอกเข็มก็ช่วยยืนดูด้วยว่าตอกจนตอกไม่ลงมั้ย


❌สรุปแบบบ้านๆนะคะ : ความสำคัญของการทรุดหรือไม่ทรุดไม่ได้อยู่ที่ว่ามีเข็ม แต่อยู่ที่ 🌟"ดิน ณ ตรงนั้น"🌟 ว่ามีสภาพเป็นอย่างไร ระดับดินแข็งที่ตอกลงไปอยู่ที่ระดับเท่าไหร่ แล้วจึงเลือกฐานราก เสาเข็ม ความยาวเข็มให้สอดคล้องกับ"ชั้นดินที่สามารถรับน้ำหนักตัวอาคารได้"❌


เราไม่สามารถเขียนข้อมูลอธิบายได้หมด เพียงแต่เป็นตัวชงให้คนที่อยากสร้างบ้านได้มีข้อมูลคร่าวๆว่าเขาต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง และเรื่องฐานรากนั้นเป็นสิ่งสำคัญโดนเฉพาะคนที่คิดอยากจะต่อเติมบ้านเราต้องรู้ในระดับนึงว่าความสำคัญนั้นอยู่ตรงไหน ไม่งั้นท่านจะพบกับบ้านฉีก บ้านทรุด เป็นเรื่องน่าปวดหัวอย่างยิ่ง


❤️รวมบทความเกี่ยวกับการสร้างบ้าน

https://www.facebook.com/100889769198315/posts/103807862239839/?d=n


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น